Bird’s Eye View : เฝ้ามองนกธรรมดาด้วยสายตาที่มองเห็นธรรมชาติ

หลายครั้งที่ชีวิตในเมืองใหญ่ทำให้เราห่างหายไปจากธรรมชาติ

หลายครั้งเราบำบัดตัวเองด้วยพื้นที่สีเขียวในเมืองกรุง
หลายครั้งเราได้สัมผัสความเงียบสงบกับสายลมอ่อนที่ปะทะใบหน้า
หลายครั้งเราได้ยินเสียงเล็กๆ เจื้อยแจ้วคลอเคลียไปกับสายลมบนกิ่งไม้

แต่จะมีกี่ครั้งที่เราจะสังเกตต้นตอของเสียงเหล่านั้นอย่างใกล้ชิดผ่านเลนส์กล้องส่องทางไกล จนรับรู้ถึงความหลากหลายและการมีตัวตนอยู่ของพวกมัน กระทั่งตระหนักได้ว่าธรรมชาติไม่ได้ห่างจากเราไปไหนเลย

Bird’s Eye View คือหนึ่งในกิจกรรม Make a Zine ครั้งที่ 3 ตอน ExtraOrdinary จัดโดยชาว a team การมาดูนกในครั้งนี้ทำให้ผมได้พบกับ แอน-สุภัชญา เตชะชูเชิด อีกครั้ง แอนคือนักวิจัยปริญญาเอก สาขาวิชาชีววิทยา นักอนุรักษ์รุ่นใหม่ และผู้ดูแลกลุ่มคนดูนกของเรา

ช่วงเช้าของต้นเดือนมิถุนายนที่สวนรถไฟ อากาศไม่ร้อนมาก ลมพัดอ่อนๆ ให้ได้ยินเสียงหมู่ไม้และนกน้อยใหญ่ กลุ่มเล็กๆ ของเราเริ่มออกเดินทางไปตามทางเดินภายในสวน แอนแจกจ่ายกล้องส่องทางไกลและสอนวิธีใช้ให้ ในกลุ่มมีทั้งเซียนดูนกและมือสมัครเล่นที่เพิ่งได้สัมผัสประสบการณ์การดูนกเป็นครั้งแรก และผมเป็นหนึ่งในกลุ่มที่สอง แต่นกตัวแรกๆ ที่เราเห็นกลับสังเกตเห็นง่ายโดยไม่ต้องใช้กล้องส่อง ปีกขนาดใหญ่และขนดำสนิทที่คุ้นตากำลังจิกกินเศษอาหารที่โคนต้นไม้ใกล้ๆ

“ธรรมดาจัง” ผมคิดในใจขณะมองอีกาซึ่งเป็นสัตว์ปีกที่สามัญมากในความคิดผม

“อีกาเองก็มีหลายสายพันธุ์นะ” ความธรรมดาของอีกาในสายตาผมยังมีความพิเศษบางอย่างสำหรับแอนอยู่ “อย่างตัวนี้เป็น eastern jungle crow ปากจะเล็กกว่าอีกาทางใต้ที่มีปากหนา และการปรากฏตัวของมันยังสามารถแสดงถึงพื้นที่ที่สกปรกได้อีกด้วย” แอนอธิบายพร้อมเกร็ดความรู้ ผมเหลือบมองเศษอาหารที่โคนต้นไม้อีกครั้งอย่างเห็นภาพ

“รู้ไหม สำนวนนกกระจอกไม่ทันกินน้ำมาจากการที่นกมันผสมพันธุ์กันเร็วมาก แค่แตะๆ ก็เสร็จกิจแล้ว

“ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ นกยางควายจะหน้าตาเปลี่ยนไปจนจำไม่ได้เลย

“นกตัวผู้จะสวยกว่าตัวเมียเพราะมันต้องแข่งกับตัวผู้ตัวอื่นๆ เพื่อให้ตัวเมียประทับใจ

“นกมีหูนะ แค่มันไม่มีใบหู ไม่งั้นมันจะได้ยินเสียงได้ยังไงล่ะ”

แอนพูดคุยกับกลุ่มอย่างสนุกสนานตลอดทาง ยิ่งทำให้การดูนกมีสีสันและกระตุ้นความสงสัยใคร่รู้เรื่องราวของนกแต่ละตัว ที่ตอนนี้ผมเริ่มเห็นความแตกต่างอย่างที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน หากมองอย่างถี่ถ้วนผ่านหัว คอ ขา หรือหาง

ผมได้คำตอบที่หลายคนสงสัยเช่นเดียวกันว่านกในเมืองจะมีสักกี่พันธุ์ เพราะตัวที่เห็นบ่อยๆ มักจะเป็นพันธุ์เดิมๆ นกหลายชนิดที่มองอย่างผิวเผินอาจหน้าตาคล้ายกัน แต่ในความจริงถ้าขาหรือคอคนละสีก็เป็นคนละพันธุ์แล้ว “นกกระจอกก็มีทั้งนกกระจอกบ้าน นกกระจอกใหญ่ หรือนกเอี้ยงก็มีทั้งเอี้ยงด่าง นกเอี้ยงสาริกา หรือนกเอี้ยงหงอน ซึ่งแต่ละตัวอาจคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันนะ” แอนอธิบายเพิ่มและจำแนกความต่างของพวกมันอย่างเข้าใจง่ายด้วยลักษณะทางกายภาพหรือพฤติกรรม

ตลอด 3 ชั่วโมง ผมพบเจอนกกว่า 20 สายพันธุ์ ซึ่งนกบางตัวอย่างนกเขาชวา นกกระติ๊ดขี้หมู นกกางเขนบ้าน นกปรอดหน้านวล นกเขาใหญ่ นกเอี้ยงด่าง เราอาจเห็นมาเป็นร้อยครั้งแล้วแต่เพิ่งได้รู้จักชื่อพวกมันเป็นครั้งแรก แต่นกหลากพันธุ์ที่ผมได้เห็น ย่อมมีผู้โดดเด่นเสมอ

‘นกตะขาบทุ่ง’ สีฟ้าสวยขนาดไม่ใหญ่มาก บินโฉบเฉี่ยวไปตามกิ่งไม้อย่างรวดเร็ว สีฟ้าไล่เฉดจนเป็นสีน้ำเงินเห็นได้ชัดเมื่อสยายปีก ไม่น่าแปลกใจที่ความสวยงามของมันจะดึงความสนใจของผมและของกลุ่มอย่างรวดเร็ว และจัดเป็นนกที่สวยที่สุดของวันนี้สำหรับใครหลายๆ คน ซึ่งความสวยงามนี้บินโฉบหายไปอย่างรวดเร็วราวกับไม่อยากอวดโฉมให้คนหมู่มากได้เฝ้ามอง

ความเป็นอิสระของมันน่าหลงใหลไม่แพ้สีสันสะดุดตาของมันเลย

เมื่อเสร็จจากกิจกรรม ผมไม่ได้ตื่นเต้นกับโลกใบใหม่ที่พบ ต้นไม้ สายลม หมู่นกน้อยใหญ่ ยังคงธรรมดาในสายตาของผม แต่ความธรรมดาเหล่านี้แท้จริงก็คือธรรมชาติไม่ใช่หรือ การเบียดเบียนหรือความพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติมักนำมาซึ่งบทสรุปที่ไม่ดีต่อมนุษย์เสมอ

เมื่อได้เฝ้าสังเกตสิ่งธรรมดาที่เห็นอยู่ทุกวันในมุมที่ชัดเจนมากขึ้น ถึงจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่มันกลับทำให้ผมรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติไปชั่วขณะหนึ่ง และแน่นอนว่าการได้ใกล้ชิดกับอะไรบางอย่างย่อมทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นมากขึ้นไปด้วย

สุดท้าย นกในสวนรถไฟกว่า 20 ชนิดที่ผมเห็นในวันนี้ ทำให้ผมหวนนึกกับตัวเองว่า นกที่อยู่บ้านเราล่ะจะเป็นยังไง จะมีนกหลายชนิดเหมือนที่นี่หรือไม่ จังหวัดที่อยู่ติดทะเลเป็นแนวยาวอย่างบ้านผมจะมีนกสายพันธุ์ไหนบ้าง ความสงสัยใคร่รู้นี้จะนำเรากลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดในเร็ววัน เพื่อไปดูนกด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิม

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี