“แม่ก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ผิดหวังกับความรักได้” แคลร์ ผู้กำกับ One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

Highlights

  • แคลร์–จิรัศยา วงษ์สุทิน คือผู้กำกับและหัวหน้าทีมเขียนบท One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ ซีรีส์เรื่องใหม่ในความร่วมมือของ GDH และ LINE TV Originals 
  • แม้คนนอกวงการหนังสั้นจะยังไม่รู้จักเธอ แต่ชื่อของแคลร์เป็นที่คุ้นหูในหมู่เด็กฟิล์มในฐานะเจ้าของ 3 ผลงานที่คว้า 3 รางวัลช้างเผือก อันเป็นรางวัลสูงสุดในการประกวดหนังสั้นระดับอุดมศึกษา
  • แคลร์แวะเก็บประสบการณ์ในฐานะนักเขียนบทภาพยนตร์อย่าง ฝากไว้...ในกายเธอ (2557) และ HOMESTAY (2561) ก่อนจะกระโดดมารับบทบาทสำคัญที่เป็นการพิสูจน์ตัวตนในฐานะผู้กำกับของเธอผ่านเรื่องราวความสัมพันธ์ของผู้หญิงซึ่งเป็นทางถนัดของเธออยู่แล้ว

สารภาพตามตรงว่า ในแวบแรก เราไม่ค่อยสนใจ One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ มากเท่าไหร่นัก แม้จะเป็นซีรีส์ใหม่จากค่าย GDH ที่เราไว้ใจคุณภาพได้เสมอ แต่พอเห็นเหล่าไอดอลสาว BNK48 มารวมตัวกันแน่นขนัด เราก็โบกมือลาทันทีด้วยอคติส่วนตัว

“มันมีผู้หญิงที่ไม่ชอบ BNK48 อยู่ แล้วผู้หญิงดันเป็นทาร์เก็ตสำหรับซีรีส์นี้ เพราะเรื่องราวในบ้านพูดถึงผู้หญิงเยอะมาก เราคิดเรื่องนี้ตลอดการทำโปรเจกต์นี้เลย” แคลร์–จิรัศยา วงษ์สุทิน ผู้กำกับและหัวหน้าทีมเขียนบท ยอมรับหลังจากเราแชร์ความคิดในย่อหน้าแรกให้เธอฟัง One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

จนกระทั่งซีรีส์ออนแอร์ไปแล้ว 3 ตอน และเริ่มมีฟีดแบ็กจากคนนอกกลุ่มแฟนคลับของ BNK48 เราถึงได้ลองเปิดใจ เปิดแอพฯ LINE TV ขึ้นมาแล้วกดเพลย์  

เท่านั้นแหละ แค่ EP แรกเราก็โดนตกทันที

เปล่าเลย ไม่ใช่โดนน้องๆ BNK48 ตก (แต่น้องๆ ก็น่ารักจริงๆ แหละ) แต่โดนความเรียลของชีวิตในบ้านหญิงล้วน+บ้านแม่เลี้ยงเดี่ยว ตกต่างหากล่ะ เพราะเราเองก็เติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบนั้น จึงรู้ได้ทันทีว่า ภายใต้ฉากหน้าของโรแมนติกคอเมดี้ปนดราม่านิดๆ ของซีรีส์ คือความเข้าใจในตัวผู้หญิงและบ้านหญิงล้วนอย่างถึงแก่น

เอาเข้าจริง คนที่รู้จักชื่อของแคลร์อยู่แล้วก็คงไม่ประหลาดใจ น่าจะมีเพียงพยักหน้าหงึกหงักแล้วบอกว่านี่แหละซีรีส์ของแคลร์ เพราะเธอคนนี้คือนิสิตผู้เคยคว้ารางวัลช้างเผือก อันเป็นรางวัลสูงสุดในเทศกาลหนังสั้นระดับอุดมศึกษา จากผลงาน 3 เรื่อง กลับบ้าน (2554) เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน (2555) และ วันนั้นของเดือน (2557) 

จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครล้มสถิติเจ้าของ 3 รางวัลช้างเผือกของแคลร์ได้ แถม วันนั้นของเดือน ยังไปคว้ารางวัลจาก Clermont-Ferrand International Short Film Festival เทศกาลหนังสั้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกต่างหาก

จุดร่วมของหนังสั้นทั้ง 3 เรื่องของแคลร์คือทั้งหมดล้วนโฟกัสที่ตัวละครผู้หญิง และความสัมพันธ์ของเธอคนนั้นกับใครอีกคน เราได้แอบดูเศษเสี้ยวชีวิตของพวกเธอในแบบที่เรียลและใกล้ชิด อย่างการมีประจำเดือนพร้อมๆ กันซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของ วันนั้นของเดือน ก็เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนที่อยู่ในแวดล้อมของพี่สาว น้องสาว หรือเพื่อนผู้หญิง เคยประสบมาทั้งนั้น 

โดนตกซะขนาดนี้ เราจึงถือโอกาสติดต่อขอคุยกับแคลร์ตัวเป็นๆ เพื่อจะได้เข้าใจมากขึ้นว่าความเรียลทั้งหมดมีที่มาจากไหนกัน

One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

คุณเติบโตมาในบ้านหญิงล้วนหรือเปล่า

ไม่ (หัวเราะ) ไม่ได้โตมาในบ้านหญิงล้วนเลย โตมากับพ่อ แม่ พี่ชาย แต่เราสนิทกับเพื่อนมาก สนิทแบบอาบน้ำด้วยกันได้ ทำอะไรก็ทำกับเพื่อนตลอด เลยมีประสบการณ์เรื่องความสัมพันธ์ผู้หญิงเยอะ

 

เรียนหญิงล้วน

ใช่ เรียนหญิงล้วน

 

โดยทั่วไปรู้สึกสบายใจกับผู้หญิงมากกว่าไหม

มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด รู้ตัวเลย 

จริงๆ ก็รู้สึกเหมือนเสีย social skill บางอย่างนะ ตอนเข้ามหา’ลัยแรกๆ เราจะเข้าหาเพื่อนผู้หญิงก่อน ไม่ค่อยมั่นใจในการคุยกับเพื่อนผู้ชายเท่าไหร่ มีความคิดไปเองว่าผู้ชายคงไม่อยากคุยกับเรา เขาคงอยากคุยกับผู้หญิงสวยๆ แต่พออยู่มหา’ลัยไปเรื่อยๆ หรืออย่างมาอยู่ GDH เจอพี่ผู้ชายเยอะ ก็โอเคขึ้น 

 

มีจุดปลดล็อกไหม

ไม่มีเป็นเหตุการณ์ขนาดนั้น เหมือนมันอยู่ๆ ได้ไปเอง 

 

ในบทสัมภาษณ์เก่าๆ คุณเคยบอกว่าหนังสั้นของคุณเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ของคุณกับใครอีกคน อย่าง กลับบ้าน คือพ่อ วันนั้นของเดือน คือแฟนเก่า แล้ว One Year ล่ะ

เรื่องนี้คือแม่ อย่าง EP1 ก็คือแม่เราเลย ไม่ใช่เรื่องราวนะ เป็นความรู้สึก คือความรู้สึกที่เรารู้สึกกับแม่จะคล้ายๆ กับที่เพชร (เฌอปราง อารีย์กุล) รู้สึกกับแม่มุก (คัทลียา แมคอินทอช)

 

คล้ายยังไง

ตอนเด็กๆ พ่อแม่เราทะเลาะกันเยอะ แล้วเวลาทะเลาะแม่เขาจะเป๋ไปเลย แล้วเราจะต้องลุกขึ้นมาเข้มแข็งด้วยตัวเอง จริงๆ เรามีพี่ชาย แต่เราไม่ได้คุยกันทุกเรื่องขนาดนั้น คือก็สนิทกันประมาณหนึ่ง แต่จะไม่ค่อยคุยเรื่องพ่อแม่กันตรงๆ 

แล้วพอแม่อ่อนแอ เราจะรู้สึกว่าไม่แฟร์ ทำไมกูต้องทำทุกอย่างเองหมดเลยวะ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังเป็นห่วงเขา ถึงเขาจะอ่อนแอ แต่เขาไม่เคยไปไหน เขาอยู่กับเราตลอด มันก็เลยเป็น hate-love relationship ถึงจะรำคาญ ไม่ชอบในบางจุด แต่เราก็รักเขามากๆ

อย่างเวลาเราไปไหน หรือกลับบ้านดึกๆ เราจะรู้สึกเหมือนเราทิ้งเขาอยู่ตลอด เป็นความรู้สึกผิดในใจ แต่ว่ากูก็ควรมีชีวิตของกูนะ มันเป็นความสัมพันธ์ที่ยากและซับซ้อนมากๆ สำหรับเรา ก็เลยอยากพูดเรื่องนี้

One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

เราไม่ค่อยเห็นการถ่ายทอดตัวละครแม่ในฐานะผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งมากนักในสื่อบันเทิงไทย ทำไมคุณถึงอยากเล่าเรื่องราวของตัวละครแบบนี้

ก็เห็นแม่เรานี่แหละ ตอนที่เขาแยกทางกับพ่อ เหมือนเขามูฟออนจากพ่อเราไม่ได้เลย ไม่ได้เลย (เน้นเสียง) เขาเสียใจหนักมาก ใช้ชีวิตไม่ได้เลย เหมือนจะเป็นซึมเศร้า แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักโรคซึมเศร้าด้วยซ้ำ 

เขารู้สึกว่าบอกใครเรื่องนี้ไม่ได้ ไม่อยากยอมรับว่าบ้านฉันแตก ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นเพราะเขาติดอยู่กับค่านิยมของครอบครัวที่มันต้องเป็นไป ที่มันต้องสมบูรณ์ ที่มันต้องมีพ่อแม่ลูก แล้วพ่อก็เป็นรักแรกๆ ของเขาด้วย 

แต่ตอนเด็กๆ เราไม่ได้อยากให้พ่อแม่อยู่ด้วยกันเลย เพราะเรารู้ว่าการอยู่ด้วยกันแล้วทะเลาะกันมันเหี้ยสำหรับลูกมากๆ เรารู้สึกว่าแม่ต้องเลิก ต้องมูฟออน ไปใช้ชีวิตใหม่ ไปมีผัวใหม่ ไปอะไรก็ได้ เราอยากให้เขากลับไปเป็นผู้หญิงคนหนึ่งให้ได้ 

เรื่องนี้ทัชชีวิตเรามากๆ และมันคงมีแม่อีกหลายๆ คนที่ผิดหวังกับคำว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ เราเลยอยากพูดเรื่องนี้ อยากให้คนเข้าใจว่าแม่ก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับพวกเราทุกคน เขาสามารถผิดหวังกับความรักได้ มันไม่ผิดอะไรที่เขาจะล้มเหลวกับชีวิตคู่ มันโอเคเว้ย 

ส่วนตัวเราเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบให้อยู่กับใครคนหนึ่งไปตลอดอยู่แล้ว เพราะตัวเราเมื่อห้าปีที่แล้วกับตัวเราตอนนี้ก็ไม่เหมือนกัน คนที่เราเคยชอบมากๆ ตอนนี้เราก็ไม่ชอบแล้ว เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ คุณแค่ต้องหาทางจัดการกับความรับผิดชอบของคุณ ถ้าคุณมีลูก คุณก็ต้องรับผิดชอบลูก แต่เรื่องความรักมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แยกออกมา 

เราก็เลยอยากเล่า อยากสร้างตัวละครแบบนี้ให้คนเห็นว่ามันโอเคที่จะเป็นแบบนี้

 

แสดงว่าตั้งแต่เด็กคุณก็เข้าใจมาตลอดว่าแม่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง

ใช่ แต่ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้เก็ตเป็นคำพูดนี้นะ เราแค่ตั้งคำถามว่า ทำไมเขาถึงเป็นแบบนั้น ทำไมเขาถึงไปต่อไม่ได้ แล้วเราก็ไปดูหนังที่พูดเรื่องคล้ายๆ กัน อย่างล่าสุดได้ดู Big Little Lies พูดเรื่องแก๊งแม่ที่ ‘กูก็รักลูกฉิบหาย แต่กูก็มีชีวิตของกูที่กูซัฟเฟอร์ในความเป็นแม่’ นั่นแหละ เราไม่ค่อยเห็นตัวละครวัยกลางคนที่เป็นแบบนี้ในสื่อไทย ก็เลยอยากให้คนดูได้เห็นบ้าง

 

EP1 ก็พูดเรื่องตัวละครแม่แบบนี้แล้ว ฟีดแบ็กจากคนดูเป็นยังไง

มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ด้านที่เห็นด้วยก็จะบอกว่า เออ เป็นแม่แบบที่ไม่ค่อยเห็นดีเนอะ ไม่ใช่แม่ในอุดมคติ เข้าใจแล้วว่าทำไมลูกถึงเป็นแบบนี้ ส่วนด้านที่ไม่เห็นด้วยก็จะบอกว่า ทำไมแม่มุกเห็นแก่ตัว เป็นเด็กจังเลย ซึ่งเขาก็มีสิทธิที่จะคอมเมนต์แม่มุกแบบนั้น แต่เราว่าเขาดูไปเรื่อยๆ แล้วเขาจะเข้าใจตัวละครนี้มากขึ้นแหละ

 

แค่เข้าใจว่ามีแม่แบบนี้อยู่เหมือนกันนะ แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจลึกซึ้งถึงข้างในขนาดนั้น

ใช่ แค่รับรู้ว่ามีคนแบบนี้อยู่ และรู้ว่าเขาซัฟเฟอร์กับอะไร ก็พอแล้วสำหรับเรา หรืออย่างน้อยดูแล้วเข้าใจพ่อแม่ตัวเอง มีความเห็นอกเห็นใจให้กันมากขึ้นก็น่าดีใจแล้วนะ 

One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

ในชีวิตจริงสนิทกับคุณแม่ไหม

สนิทแหละ อยู่ด้วยกันแทบตลอดเวลา กลับบ้านไปก็เจอแม่ ตื่นมาก็เจอแม่ มีอะไรก็คุยกับแม่ แต่ก็ไม่ได้คุยกันทุกเรื่อง คือเราก็ยังมีกำแพงบางอย่างในใจ ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องในอดีตนั่นแหละ เราให้อภัยได้แล้ว แต่อาจจะยังไม่เต็มร้อย เลยยังไม่สามารถเปิดใจให้เขาได้ขนาดนั้น เหมือนทำซีรีส์ไปก็ยังต้องพัฒนาตัวเองไปด้วย แต่จริงๆ ก็คือรักที่สุดในชีวิต 

 

คุณเคยบอกว่าเวลาทำหนังสั้นเล่าเรื่องความสัมพันธ์กับคนอีกคน คุณจะมีจุดประสงค์บางอย่าง เช่น แสดงความคิดถึง สั่งลา แล้วกับเรื่องนี้ล่ะ

อย่างที่เล่าเมื่อกี้แหละ อยากพูดประเด็นที่ว่าแม่เป็นมนุษย์ แต่อาจจะไม่ได้ทำให้แม่เราเป็นพิเศษ ทำให้แม่ in general ของเมืองไทยมากกว่า

 

แล้วแม่คุณได้ดูหรือยัง เขาฟีดแบ็กว่ายังไง

ดูแล้ว (หัวเราะ) เขาดูทุกเรื่องที่เราทำนะ แต่เขาอาจไม่ได้เทคมันซีเรียส อย่างเรื่องนี้เขาก็ไม่ได้คิดว่าเราไปเปิดโปงชีวิตเขา เขาแค่ดีใจที่ได้ดูงานลูก

เออ หรือเขาคิดก็ไม่รู้นะ ไม่รู้ๆ (หัวเราะ) เขาอาจจะเก็บไว้ในใจ

 

ย้อนกลับไปคุยเรื่องที่มากันหน่อย เรารู้คร่าวๆ แล้วว่าซีรีส์นี้เริ่มจากผู้ใหญ่ GDH และ BNK48 อยากทำงานร่วมกัน แต่ยังไม่รู้เลยว่าพวกเขาให้โจทย์อะไรคุณมา

เขาค่อนข้างปล่อยฟรีนะ เราเลยต้องไปคิดเรื่องมา

คือตอนแรกพี่วรรณ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์) ชวนพี่ปิง (เกรียงไกร วชิรธรรมพร) มาเป็นโปรดิวเซอร์ก่อน เพราะพี่ปิงเป็นโอตะรุ่นแรกๆ เลย แล้วพี่ปิงเคยดูหนังสั้นเราทุกเรื่อง เขาก็เลยนึกถึงเราว่าเราน่าจะถนัดความเป็นผู้หญิง ทีนี้ทาง BNK48 เขาก็ไม่ได้ฟิกซ์มาว่าให้ทำเรื่องอะไร เราเลยไปคิดพล็อต ก็ได้เป็นพล็อตเรื่องบ้านหญิงล้วนขึ้นมา

One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

เราดูแล้วรู้สึกว่าเรื่องราวมันเรียลมาก ทั้งคำพูดหรือกิจกรรมในบางซีน ไปเอาความเรียลนี้มาจากไหน

ไม่รู้ (หัวเราะ) เราแค่เอาไดอะล็อกที่คุยกับเพื่อนจริงๆ มา แค่นั้นเลย แต่บางทีคำพูดของตัวละครผู้ใหญ่เราก็จะไม่ค่อยได้ ต้องให้พี่อัม (อมราพร แผ่นดินทอง) เป็นคนคิด ถือเป็นการทำงานร่วมกันที่ค่อนข้างลงตัวของทีมเขียนบท

 

ฟอร์มทีมเขียนบทให้ลงตัวได้ยังไง

ทุกคนบอกว่า ถึงมันจะเป็นเรื่องผู้หญิงเป็นหลัก แต่มันก็มีตัวละครผู้ชายอยู่ด้วย ยังไงในทีมเขียนบทก็ต้องมีผู้ชาย ก็เลยมี พี่เป็ด (ทศพล ทิพย์ทินกร) ซึ่งเราเคยทำงานด้วยตอนเขียนบท HOMESTAY พี่เป็ดเป็นผู้ชายที่มีความเฟมินีนอยู่ และเป็นคนเขียนบทที่คิดโครงเรื่องได้ เพราะเราเองจะเป็นสายโยนไอเดีย บางทีก็จะคิดโครงไม่ได้ พี่เป็ดก็เลยต้องมา แล้วก็มีพี่อัมมาช่วยอุดรูรั่วในอินเนอร์ตัวละครผู้ใหญ่ที่เราไม่รู้ แล้วก็ ลี้ (จิราพร แซ่ลี้) เป็นรุ่นน้องที่มีความละเอียดอ่อนในการใช้ชีวิตและเป็นคนอินเรื่องครอบครัว แล้วมันรสนิยมคล้ายๆ เรา ก็เลยชวนมันมา 

One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

นี่เป็นการเขียนบทซีรีส์ครั้งแรกของคุณใช่ไหม นอกจากเรื่องความยาวมันต่างจากหนังและหนังสั้นที่เคยเขียนมายังไงบ้าง

ต่างมาก คือหนังจะมีความเป็นเส้นตรงไป ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปในเส้นเดียว แต่ซีรีส์จะมีตัวละครเยอะกว่า และแตกเส้นเรื่องออกไปหลายเส้น ซึ่งเราไม่ค่อยถนัด ก็ต้องปรับจูนอยู่ประมาณหนึ่ง

อย่างตอนที่เราเขียนบทหนัง อะไรที่มันดูนอกเรื่อง ทำให้เรื่องไม่เดิน จะใส่ลงไปไม่ได้เลย แต่ในซีรีส์มันทำได้ ตอนแรกก็ไม่แน่ใจ ทำไมกูต้องแวะไปเล่าเรื่องพลอยกับมาร์ค (ไอซ์ซึ–ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) ทั้งที่ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับเส้นหนึ่งปี แต่พอเขียนไปสักพักก็ชิน แล้วก็เอ็นจอยมาก เพราะจริงๆ เราน่ะชอบเขียนซีนที่ไม่ได้มีฟังก์ชั่นรุนแรง แต่แค่เล่าความ intimate บางอย่างของตัวละคร พวกนี้บางทีอยู่ในหนังไม่ได้ แต่อยู่ในซีรีส์ได้ 

 

ยกตัวอย่างซีนได้ไหม

มันยังไม่ถึงอะ (หัวเราะ)

 

แล้วความรู้สึกตอนเขียนหนังกับซีรีส์มันต่างไหม อย่างตอนเขียนบท HOMESTAY คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกติดอยู่กับสิ่งนี้นานมาก

เป็นเรื่องความรับผิดชอบมากกว่าระยะเวลา ความรับผิดชอบมันต่างกัน HOMESTAY เราเป็นแค่คนเขียนบท ก็โยนๆ ไอเดียไป พี่โอ๋ (ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ) จะเลือกไหมก็อยู่ที่พี่โอ๋ พี่โอ๋ไม่เลือกเราก็คิดโยนไปใหม่ ไม่ได้กดดันมาก 

แต่กับ One Year เราต้องเป็นคนเลือกทุกอย่างที่เกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องรักษาจิตใจของทุกคนในทีมเขียนบท เพราะไม่ใช่ว่าเราจะเลือกทุกอย่างที่เขาเสนอมา มันเป็นความรับผิดชอบที่สูงกว่ามาก แล้วเราเป็นคนขี้เกรงใจ พี่เป็ดพี่อัมก็มีประสบกาณ์กว่าเราเยอะ เราจะเชื่อเขามากๆ ถึงบางอย่างเราจะสงสัยว่า เราจะทำแบบนี้จริงๆ เหรอ 

อันนี้ตลกมาก มันเคยมีซีนหนึ่งที่อยู่ในบทมานานมาก คือซีนที่ทุกคนในบ้านช่วยกันจับงู ซึ่งพี่ๆ จะรู้สึกว่า ‘เฮ้ย มันรีเลต ทุกคนเคยมีงูเข้าบ้าน ต้องมีการจับงูเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์’ แต่เราจะแบบ เชี่ย กูไม่เคยจับงูเลยในชีวิตนี้ แต่ทุกคนบอกว่าดี หรือว่ามันดีจริง หรือกูต้องกำกับงูวะ 

เราก็เลยปล่อยให้มีซีนจับงูอยู่ในบทนานมาก จนพี่ปิงต้องมาคุยกับเราส่วนตัวว่า ‘เอาจริงๆ แคลร์ไปนั่งอ่านดูว่ามีอะไรที่รู้สึกว่ามันไม่ใช่แคลร์ไหม’ ซึ่งสุดท้ายเราก็ต้องกล้าบอกออกมาว่า เออ พี่ หนูนึกภาพตัวเองกำกับซีนงูไม่ได้จริงๆ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เรากลัว เราไม่อยากทำร้ายจิตใจใคร เราก็เลยต้องมีสติรู้ว่าอะไรใช่ไม่ใช่กับตัวเองจริงๆ และต้องคอยรักษาจิตใจของคนในทีมเขียนบทด้วย

 

แล้วพอพูดออกไปรีแอ็กชั่นมันแย่อย่างที่คิดไว้หรือเปล่า

ไม่เลย (หัวเราะ) พี่เป็ดพี่อัมเขาพร้อมซัพพอร์ตผู้กำกับอยู่แล้ว รีแอ็กชั่นของพี่เป็ด พี่อัม ลี้ ก็เลยเป็นว่า  ‘ถ้ามึงพูดแต่แรกคงเขียนบทเสร็จไปนานแล้ว’ (หัวเราะ)

โอเค เขียนบทเสร็จแล้ว ทีนี้เลือกตัวละครยังไง อย่างทาง BNK48 เขากำหนดมาไหมว่าให้น้องๆ คนไหนแสดง

อ๋อ เราเลือกเองเลย

 

ไม่ได้คิดว่าจะต้องเอาคนป๊อปๆ มาแสดงเหรอ

ไม่เลย คนมักจะคิดอย่างนั้น แต่เราได้คุยกับน้องๆ เกือบทุกคนเลย ทั้งสองรุ่นร่วมกันห้าสิบกว่าคน มีการนัดน้องมาคุยกับเราและทีมเขียนบทคนละสองสามชั่วโมง ตอนนั้นเรารู้จักแค่เฌอปราง เพราะเราเขียนบท HOMESTAY แล้วก็ออกกองด้วย นอกนั้นไม่รู้จักใครเลย รุ่นสองก็เพิ่งเข้ามาด้วย

 

คุยอะไรกันสองสามชั่วโมง

คุยหมดเลยเรื่องชีวิตน้อง มุมมองการใช้ชีวิต ครอบครัว ความรัก เพื่อน ปัญหาชีวิต แล้วอีกด้านหนึ่งก็เอาอินพุตจากชีวิตน้องๆ มาใส่ด้วย คือเราก็โตแล้ว น้องๆ มันยังอยู่ในวัยที่ตรงกับตัวละครมากกว่า แล้วก็เลือกเข้ามาเป็น 8 คนนี้

 

แล้วทำไมต้องเป็น 8 คนนี้

ก่อนนัดคุยกับน้องๆ เราก็มีบทมาประมาณหนึ่งแล้วว่าจะมีตัวละครผู้หญิงแบบไหนบ้าง พี่น้องห้าคนเป็นยังไง ลูกลุงตั้มเป็นยังไง เพื่อนที่โรงเรียนเป็นยังไง แต่บางตัวละครเราก็จะปรับจูนให้เขากับตัวน้องที่เราสนใจด้วย

อย่างเฌอในบทเพชร ตอนแรกก็พยายามแคสต์คนอื่น แต่เฌอมันมีความเป็นพี่ใหญ่อยู่ในตัวเต็มร้อยมากๆ และเราค่อนข้างคุ้นเคยกับเฌออยู่แล้ว เรารู้สึกว่าถึงมันจะพยายามจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย เป็นห่วงคนนู้นคนนี้ แต่ในใจลึกๆ มันมีอะไรบางอย่าง มันเหนื่อย มันนู่นมันนี่ ซึ่งคล้ายกับเพชรมาก  

ปัญ (ปัญสิกรณ์ ติยะกร) จริงๆ ตอนแรกบทพลอยจะดาร์กกว่านี้ ไม่มั่นใจในตัวเอง คิดเยอะ คิดมาก แต่พอมาเจอปัญ มันมีไวบ์ที่ดี เป็นธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่ง ซึ่งก่อนหน้าที่จะเจอเรารู้ว่าปัญดัง ได้รับความนิยมอันดับแรกๆ พอมาเจอตัวจริง เจอไวบ์ เราชอบมาก รู้สึกว่าจะทำให้ตัวละครนี้มีเสน่ห์มากขึ้น ก็เลยเลือกปัญมาในบทพลอย

จูเน่ (เพลินพิชญา โกมลารชุน) กับบทตะวัน จูเน่มันจะมีความเป็นเจ้ มีจริตจะก้านความเป็นผู้หญิง ซึ่งเรามีเพื่อนแบบนี้เยอะมาก เพื่อนแรดๆ น่ะ (หัวเราะ) เชี่ยวชาญเรื่องผู้ชาย แต่เราไม่เคยตัดสินมัน เรารู้สึกว่า เออ มึงใช้ชีวิตตามหัวใจมากๆ เลยว่ะ ซึ่งเราชอบมาก เรารู้สึกว่าอยากมีตัวละครประมาณนี้อยู่ในเรื่อง แล้วตอนที่คุยกัน จูเน่มันเล่าว่ามันมีพี่น้องหญิงล้วนเหมือนกัน แล้วมันเป็นคนเดียวที่แฟชั่น ก็เลยต้องคอยแต่งตัวให้พี่น้อง เป็นสไตลิสต์ของบ้านที่มักจะโดนขโมยเสื้อ เราก็หยิบตรงนี้มาใส่ในตัวตะวันเหมือนกัน

วี (วีรยา จาง) กับบทไพลิน ตอนแรกพลอยกับไพลินเป็นตัวละครที่ทีมเขียนบทยังคุยกันจนวันท้ายๆ เลยว่าสองคนนี้แตกต่างกันยังไงกันแน่ แต่พอมาเจอวี มันมีความเป็นธรรมชาติในตัวเอง ไม่มีฟอร์มเลย แล้วก็บอยๆ หน่อย เราเลยยืมสิ่งนี้มาใส่ในไพลินแล้วก็เอาวีมาเล่น

One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

มิวนิค (นันท์นภัส เลิศนามเชิดสกุล) เป็นคนที่ตรงกับบทมาก จริงๆ มันเป็นพี่สาวคนโต แต่หน้ามันนิ่งมาก หยิ่งๆ จิกๆ มีแววตาที่น่ากลัว ก็เลยเอามาเล่นเป็นแพรวพราว

One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

แล้วก็เบบี้ ฟอนด์ (ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา) มันจะมีความแด๊ะๆ แด๋ๆ อยู่ในตัว แต่เราจะไม่หมั่นไส้มัน เป็นความแด๊ะแด๋ที่น่ารัก ตลกมากเลยวันที่เรียกมันมาแคสต์ เราให้มันเล่นบทแนะนำพี่ชายจีบผู้หญิง แล้วมันก็พูดเหมือนตัวเองเคยผ่านการมีแฟนมาแล้วสิบคน ซึ่งไอฟอนด์ไม่เคยมีแฟน รู้สึกว่ามันเหมือนเบบี้มากเลยว่ะ 

แล้วก็เจน (กุลจิราณัฐ อินทรศิลป์) กับน้ำใส (พิชญาภา นาถา) เราสะดุดตากับเจนตั้งแต่ดู Girls Don’t Cry ของพี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) แล้ว มันมีแววตาที่ดูมีอะไร เขาเรียกกันว่าเป็นคนหน้าซีเนมาติก แต่ดูแล้วเจนเป็นตัวละครพี่น้องไม่ได้ ก็เลยเอามาเล่นเป็นทราย เพื่อนไพลิน ส่วนน้ำใสเหมาะกับคาแร็กเตอร์เพื่อนขี้เมาท์มาก แล้วบทจิ๊บบี้มันทำให้เรานึกถึงเพื่อนที่ตัวสูงๆ ดูแก่ๆ แบบมึงอายุเท่ากูจริงหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) ก็เลยเอาน้ำใสที่เรียนมหา’ลัยแล้วมาเล่นเป็นเด็ก ดูน่าจะตลกดี

One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

การพูดคุยกันก่อนเริ่มงานสำคัญต่อการเขียนบทหรือกำกับยังไง

สำคัญในแง่ว่าเราจะเข้าใจว่าน้องเป็นยังไง ผ่านอะไรมา 

แล้วในความเป็น BNK48 น้องๆ มันต้องมีคาแร็กเตอร์หนึ่งที่มันต้องเป็น ซึ่งนักแสดงเป็นแบบนี้ไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ทำให้น้องเปิดใจกับเราร้อยเปอร์เซ็นต์ก่อน มันจะแสดงไม่ได้ ซึ่งพอน้องเปิดใจกับเรา ทุกอย่างที่ตามมาก็ง่ายหมดเลย การแสดงก็ออกมาค่อนข้างดี

เอาจริงถามว่าคุยกันสองสามชั่วโมงพอไหม ก็ไม่ได้พอ แต่ดีกว่าไม่มี มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดสเตปต่อไปได้

 

การกำกับน้องๆ BNK48 เป็นยังไง คุณกำกับผู้หญิงมาเยอะก็จริง แต่คงไม่เคยเจอกลุ่มใหญ่ขนาดนี้

เราให้เวลากับการเวิร์กช็อปเยอะ แล้วก็ปูพื้นฐานการแสดงให้น้องใหม่หมดเลย ซึ่งเด็กพวกนี้มันเปิดใจและเรียนรู้เร็วอยู่แล้ว พอมันเก็ตหลักการแสดงก็ง่ายเลย ติดแค่เรื่องประสบการณ์ชีวิตมากกว่า เพราะยังเด็กอยู่ บางอย่างมันนึกไม่ออก เราก็ต้องคุยให้มันเข้าใจ และเราโชคดีที่เด็กๆ พวกนี้ไม่เกร็งกล้อง ไม่เกร็งทีมงาน มือใหม่บางคนจะกลัวกล้อง แต่พวกนี้มันทำงานมาเยอะแล้ว 

ที่ผ่านมาลายเซ็นของคุณคือการกำกับนักแสดงหญิง การกำกับนักแสดงหญิงและชายมันต่างกันจริงหรือเปล่า

ส่วนตัวเราเองเห็นภาพผู้หญิงชัดกว่า ต้องพูดประโยคนี้แบบไหน ด้วยอารมณ์ไหน แต่กับผู้ชายมันยาก เราไม่มีอินเนอร์นั้น บางทีคิดแทนไม่ได้ สมมตินักแสดงผู้ชายเล่นมาแบบหนึ่ง เราก็ต้องมีสติ คิดว่าเราต้องการอะไร แล้วต้องแก้เขายังไง 

ยอมรับว่าเวลากำกับนักแสดงผู้ชายเราเห็นภาพไม่ค่อยชัด เป็นเรื่องที่เราต้องเวิร์กต่อเหมือนกัน ในอาชีพเราจะเขียนบทเกี่ยวกับผู้หญิงหรือกำกับผู้หญิงอย่างเดียวไม่ได้อยู่แล้ว  

 

นอกจากน้องๆ BNK48 คุณยังต้องกำกับรุ่นใหญ่อีก เป็นยังไงบ้าง

เกร็ง ยิ่งพี่ดู๋ (สัญญา คุณากร) ยิ่งเกร็งเลย คือพี่แหม่มแกเคยทำ เลือดข้นฯ มา แกชอบการทำงานแบบ GDH-นาดาว เพราะเราถ่ายซีรีส์เหมือนถ่ายหนัง แกรู้สึกว่ามันท้าทาย มันสนุก ก็เลยจะเวลคัมมาก แต่พี่ดู๋แกไม่ได้เล่นละครมานานมากแล้ว แกไม่ได้รู้จักเรา แต่ว่ารับเล่นเพราะว่าอยากร่วมงานกับพี่แหม่มและเก้า (จิรายุ ละอองมณี) พี่ดู๋ก็เลยตกลงมาเล่นโดยที่ยังไม่รู้พล็อตด้วยซ้ำ 

เราก็เลยแบบ เชี่ย กลัวๆๆๆ กูตายแน่ กูกำกับพี่ดู๋ไม่ได้แน่ ตอนมา read through พี่ดู๋แกอ่านบทไปก็วิเคราะห์ตัวละครไป เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ยิงบทกระจุยเลย คือพี่ดู๋แกเป็นผู้ชายสมาร์ต ฉลาด เลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจ แต่ตั้มจะเป็นผู้ชายที่ไม่ได้เป็นผู้นำมาก จะบ้านๆ กว่า พี่ดู๋ก็เลยจะไม่เก็ตว่าทำไมตั้มกล้าพาลูกมาอยู่บ้านผู้หญิง ซึ่งเราก็ยอมรับว่าตอนแรกตั้มไม่ได้มี back story ที่แน่นมาก แต่พอมาเจอพี่ดู๋ ได้พยายามอธิบายและคุยกันมากขึ้น เราก็เลยเหมือนได้สร้างตัวละครตั้มมากับพี่ดู๋ ทำให้ตั้มมีมิติมากขึ้น แล้วพอเรากับพี่ดู๋เก็ตกัน มันดีมาก หลังๆ คือไม่ต้องพูดอะไรก็เข้าใจกันหมดแล้ว สมมติถ่ายอยู่ แล้วเราคัต วิ่งเข้าไป พี่ดู๋จะพูดสิ่งที่เราต้องการออกมาได้เลย

One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

นั่นแหละ มันเกร็ง แต่พอเราฮึบ ทำงานให้เป็น มันก็ผ่านมาได้ แต่ก่อนเราไม่ค่อยพูด คิดอะไร ติดอะไร จะพูดน้อย จะรู้สึกไปเองว่าคนอื่นต้องเข้าใจเราสิวะ แต่พอเราฮึบ เราพยายามพูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการให้ชัดเจน ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้กำกับอยู่แล้ว แค่นั้นคนทำงานคนอื่นเขาก็โอเค พร้อมจะทำในสิ่งที่เราต้องการแล้ว 

อีกอย่างที่มันง่ายขึ้นสำหรับเราเพราะเคมีนักแสดงดีมาก พี่ดู๋พี่แหม่มเขาพร้อมที่จะอุ้มทุกคนไปได้ เก้าก็ด้วย คือน้องๆ BNK48 มันก็ไม่เคยแสดงมาก่อน แต่ทุกคนก็เห็นความพยายามของน้องๆ และพยายามทำงานไปในจุดมุ่งหมายเดียวกัน ไปเป็นทีม ก็เลยดีมาก 

 

คุณดูได้ทำอะไรใหม่ๆ เยอะมาก นับโปรเจกต์นี้เป็นหมุดหมายสำคัญของชีวิตเลยไหม

ใช่ อย่างแรง ​(หัวเราะ) เพราะว่าก่อนหน้านี้เราเสียความมั่นใจไปแล้ว เราเขียนบท HOMESTAY อยู่นานมาก ไม่ได้กำกับเลย แล้วการเป็นคนเขียนบทมันอยู่ในฐานะผู้ถูกเลือก บางทีเราโยนอะไรไปแล้วเขาไม่เลือก เราก็เสียความมั่นใจ มีความคิดว่าหรือกูไม่ดีพอ หรือหนังสั้นมันเป็นแค่งานเด็กๆ ที่ทำไปแล้วโชคดีได้รางวัล หรือกูทำงานที่เป็นงานจริงๆ แบบทำเพื่อคนดูไม่ได้วะ ตั้งแต่เรียนจบเราก็สงสัยในตัวเองมาตลอด จริงๆ ตอนแรกที่ได้ยินโปรเจกต์นี้ก็ยอมรับว่าไม่ได้อยากทำมาก

 

อ้าว ทำไมล่ะ

มันไม่เชิงไม่อยากทำ คิดกลับไปจริงๆ มันคือความกลัว แล้วเราก็หาข้ออ้างนู่นนี่ แบบกูไม่ได้ชอบ BNK48 กูทำเรื่องผู้หญิงมาเยอะแล้ว กูจะเอาเรื่องผู้หญิงที่ไหนมาเล่าได้อีก 

แต่ในใจลึกๆ ก็รู้แหละว่านี่คือโอกาสใหญ่มากๆ อยู่ดีๆ ก็ได้กำกับ ไม่คว้าไว้ก็อาจไม่ได้ทำกำกับอีกแล้วในชีวิตนี้ ซึ่งสุดท้ายก็รู้สึกดีมากที่ก้าวข้ามความกลัวมาได้ มันเป็นหมุดหมายชีวิตจริงๆ เพราะได้ทำอะไรเยอะอย่างที่เล่าไป แล้วมันก็พิสูจน์ฝีมือประมาณหนึ่ง ก่อนหน้านี้ที่ทำหนังสั้น มันไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ดู แต่งานนี้มันกว้างกว่า ทั้งคนที่ได้ดูและคนที่ทำงานร่วมกันจะได้เห็นภาพตัวเราชัดเจนขึ้น และมันน่าจะพาเราไปได้ไกลขึ้นในอาชีพการงานนี้

 

ก้าวข้ามความกลัวมาได้ยังไง 

ไม่ก้าวข้าม ก็ทำเลย ไม่คิดหน้าคิดหลังเยอะ เพราะถ้าคิดปุ๊บเราจะไม่ทำแน่ๆ ทำไปก่อนเดี๋ยวก็ทำได้เองแหละ คนพร้อมจะช่วยเราเยอะ 

ต้องบอกว่าพี่ปิงคือตัวแปรสำคัญ เพราะพี่ปิงช่วยทำให้เราเป็นเราที่ดีขึ้นได้จริงๆ เพราะเราไม่มั่นใจในตัวเอง พยายามจะถอยห่างจากตัวเอง ตลกมาก ตอนแรกเราไปคิดพล็อตแฟนตาซีอยู่นานมาก แบบเด็กมีพลังนั่นนี่ กูคิดไปได้ไง เป็นบ้า (หัวเราะ) 

ขณะที่เราไม่มั่นใจในตัวเอง พี่ปิงคือคนที่มั่นใจในความเป็นเรามากๆ และดึงเรากลับมาในจุดที่เราดีที่สุด

 

เรียกได้ว่าดึงกลับสู่โลกความเป็นจริงเนอะ

ใช่ เรารู้สึกว่ามีคนที่เก็ตเรา ไม่ว่าเราจะพัง จะลอสต์แค่ไหน พี่ปิงจะดึงเราไว้ ทำให้เราทำไปได้แบบที่เรารู้ว่ามันจะโอเค

One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

ถึงจะบอกว่าทำๆ ไปก่อน แต่คุณก็ไม่ได้ทำโดยไม่เห็นทาง เพราะก็มีประสบการณ์มาบ้างอยู่แล้ว

เราพยายามเชื่อเซนส์ให้มากที่สุด เพราะเราไม่เคยทำซีรีส์ ไม่รู้จะยึดกับหลักการอะไร งั้นยึดเซนส์ตัวเองก็แล้วกัน แต่ไม่ใช่อยากทำอะไรก็ทำนะ ระหว่างทำเราก็ศึกษาความเป็นซีรีส์ไปด้วย ดูซีรีส์หลายๆ ประเทศ แล้วลองวัดกับตัวเองว่ารู้สึกกับอะไรบ้าง แล้วมาปรับใช้กับงานตัวเอง

 

พอใจกับผลลัพธ์ไหม

พอใจมาก เกินคาดมากๆ ตอนแรกไม่มั่นใจ แต่เราเป็นแบบนี้แหละ ไม่เคยมั่นใจอะไรเลยในชีวิต (หัวเราะ) แต่พอฉายไปแล้ว ได้อ่านฟีดแบ็กเราก็เลยรู้ว่าคนเล็งเห็นนะเว้ย พวกดีเทลบางอย่างที่เราใส่เข้าไป ที่เราคิดไปเองว่าคนดูซีรีส์ไม่มานั่งเห็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้หรอก แต่เขาเห็นนะ

 

เช่นอะไร

พวกดีเทลการแสดงเล็กๆ น้อยๆ บางทีกล้องไม่ได้จ้องอยู่ที่คนนี้ แต่มันเล่นนะ หรือดีเทลที่มันน้อยมากๆ เช่น ชุดนอน เคสมือถือ ซึ่งอะไรแบบนี้มันเสียเวลาในการทำงาน ซีรีส์มันจะถ่ายกันเร็วมาก เคยมีคนบอกเราว่าไม่ต้องละเอียดขนาดนี้ก็ได้ บางคนดูซีรีส์ในจอมือถือ เขามองไม่เห็นหรอกว่าตัวละครใช้เคสมือถืออะไร แต่พอมันฉาย แล้วเราพบว่าคนดูเห็นว่ะ เราดีใจมาก ดีใจที่เรายืนยันทำสิ่งที่เราเชื่อ แล้วเราก็ดีใจที่ได้รู้จักคนดูมากขึ้น จริงๆ เขาตั้งใจดูนะ

 

จบโปรเจกต์แล้วมั่นใจในตัวเองมากขึ้นไหม

เออ มั่นใจขึ้น ก็สังเกตตัวเองเหมือนกัน เวลาประชุมโปรโมตหรือทำอะไร เราก็กล้าพูดในสิ่งที่คิดมากขึ้น ดีนะ รู้สึกว่าเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้น

 

ขอจบด้วยคำถามคลิเช่ พอได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว เป้าหมายต่อไปของคุณคืออะไร

(หัวเราะ) ก็ทำหนังยาวแหละมั้ง แต่จริงๆ เราไม่อยากตั้งเป้าหมายให้ตัวเองมากนัก เพราะเราก็ไม่เคยตั้งเป้าหมายว่าจะทำซีรีส์ แต่เราก็ได้ทำ One Year  

เราคงพยายามใช้ชีวิตให้มันพร้อมมากที่สุดมากกว่า เคยอ่านมาว่า คนประสบความสำเร็จเพราะเขาพร้อมเมื่อโอกาสมาถึง เราก็เลยพยายามทำตัวเองให้พร้อม แล้วก็เปิดใจ ไม่กดดันตัวเองว่าจะต้องทำอย่างนี้ๆ ให้ได้ตอนอายุเท่านี้ ชิลล์กับตัวเองมากขึ้น โฟกัสกับปัจจุบันให้มันแฮปปี้ที่สุด

One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ


ขอบคุณภาพเบื้องหลังจาก GDH

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน