James Hatton หนุ่มอังกฤษผู้ก่อตั้งนิตยสารที่อยากส่งวรรณกรรมไทยไปวรรณกรรมโลก

Highlights

  • The Bangkok Literary Review คือนิตยสารวรรณกรรมที่แปลวรรณกรรม เรื่องสั้น และบทกวีภาษาไทยให้เป็นภาษาอังกฤษเพื่อผลักดันให้วรรณกรรมไทยเป็นที่รู้จักในแวดวงนักอ่านทั่วโลก
  • ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการของ The Bangkok Literary Review คือ James Hatton หนุ่มชาวอังกฤษผู้รักการอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ เขาตั้งคำถามว่าทำไมวรรณกรรมไทยถึงไม่เคยถูกแปล และเริ่มต้นนิตยสารในฝันร่วมกับ ชยารพ บูรภัทร และปริยาภา อมรวณิชสาร ผู้ทำงานอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรม
  • เพื่อสำนวนแปลที่มีคุณภาพที่สุด ทั้งสามร่วมกันจัด ‘The BKKLIT Translation Prize 2018’ โครงการประกวดการแปลวรรณกรรมไทยขึ้น โดยงานแปลที่ได้รางวัลจะได้ตีพิมพ์ในนิตยสารของพวกเขา

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีนิตยสารเล็กๆ เล่มหนึ่งวางขายเป็นครั้งแรก

The Bangkok Literary Review คือชื่อของมัน

หากได้มีโอกาสพลิกผ่านๆ คุณจะพบว่าเนื้อหาของนิตยสารขนาด 160 หน้ากระดาษเล่มนี้อัดแน่นด้วยเรื่องสั้น และบทกวีจากนักเขียนไทย ปราบดา หยุ่น, จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ และซะการีย์ยา อมตยา คือตัวอย่างเพียงคร่าวๆ เคียงคู่ไปกับเรื่องราวของเหล่านักเขียนคือภาพผลงานศิลปะจากเหล่าศิลปินไทย ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นชื่อที่คุ้นหู ไม่ว่าจะเป็น อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์, บุษราพร ทองชัย และมานิตา ส่งเสริม

ถึงตรงนี้ คุณอาจพอนึกภาพ The Bangkok Literary Review ออก แต่เราลืมบอกไปว่า เนื้อหาทั้งหมดในนิตยสารเล่มนี้ไม่ได้เป็นภาษาไทย หากเป็นภาษาอังกฤษร้อยเปอร์เซ็นต์ต่างหาก

ในบ่ายวันอาทิตย์ที่อากาศร้อนจัด เรานัดเจอกับ James Hatton บรรณาธิการหนุ่มประจำนิตยสารเล่มนี้ในร้านกาแฟเล็กๆ ใกล้คอนโดของเขา เพื่อตอบความสงสัยส่วนตัวของเราว่า The Bangkok Literary Review จะส่งแรงผลักดันอย่างไรต่อวงการวรรณกรรมไทย

ในตอนแรก ไอเดียของผมคือตั้งใจจะให้นิตยสารเล่มนี้สื่อสารกับชาวต่างชาติ ผมเชื่อว่าชาวต่างชาติไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่นี่หรือเป็นนักท่องเที่ยวย่อมมีความสนใจในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่พอเริ่มทำไปได้ไม่นานผมกลับพบว่ามีคนไทยจำนวนมากให้ความสนใจในนิตยสารเล่มนี้ มีคนไทยอีกมากที่อ่านภาษาอังกฤษได้ หลงใหลในศิลปะ และวรรณกรรมเจมส์เริ่มต้นเล่า

แรกเริ่มเดิมที ในช่วงที่เกิดความคิดอยากจะทำ The Bangkok Literary Review ตอนนั้นเขาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมากว่าสามปีแล้ว เพราะความชื่นชอบในวรรณกรรม เจมส์จึงลองค้นหาวรรณกรรมไทยที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ความเป็นจริงกลับผิดไปจากที่เขาคาดหวัง เพราะจำนวนของวรรณกรรมไทยที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษนั้นช่างน้อยนิดเสียเหลือเกิน

ผมพบว่ามีวรรณกรรมไทยน้อยมากที่ได้รับการแปล หรือพอเจอเรื่องที่ถูกแปลก็มักจะเป็นสำนวนการแปลของนักแปลคนเดียวที่แปลเรื่องอื่นๆ ด้วย คุณไม่คิดว่าการที่วรรณกรรมไทยส่วนใหญ่ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษถูกแปลจากนักแปลคนเดียวมันเป็นเรื่องแปลกเหรอ จากจุดนั้นผมจึงเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมถึงไม่ค่อยมีใครแปลวรรณกรรมไทยกันล่ะ หรือเพราะวรรณกรรมไทยน่ะยากเกินไปที่จะแปล

“The Bangkok Literary Review เกิดจากไอเดียของผมที่อยากให้ประเทศไทยมีนิตยสารที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดนักแปลหน้าใหม่ๆ ผมอยากจะสร้างชุมชนนักแปลไทย เพื่อที่ว่าวรรณกรรมไทยจะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษมากขึ้นเขาอธิบายอย่างตั้งใจ

เพราะไม่ใช่คนไทยโดยกำเนิด และเพิ่งจะอาศัยอยู่ในประเทศนี้แค่ไม่กี่ปี มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่เขาจะริเริ่มโครงการในฝันด้วยลำพังคนเดียว

โชคดีที่เจมส์รู้จักกับ ปาร์คชยารพ บูรภัทร แห่ง Assajan Collective ซึ่งได้แนะนำให้เขาได้รู้จักกับ เอญ่าปริยาภา อมรวณิชสาร ผู้ทำงานอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งสามได้ร่วมทีมกันริเริ่ม ‘The BKKLIT Translation Prize 2018’ โครงการประกวดการแปลวรรณกรรมไทยในปีที่ผ่านมา

ผ่านโครงการประกวดนี้เอง พวกเขาจึงได้พบกับนักแปลหน้าใหม่ที่กลายเป็นกำลังสำคัญในการแปลเรื่องสั้นและบทกวีที่ตีพิมพ์อยู่ใน The Bangkok Literary Review เล่มนี้เด็กสาวที่ถูกข่มขืนทางรูหูโดยจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ‘ชายโดดเดี่ยวผู้ยืนหันหลังให้คลื่นสึนามิโดยจิรภัทร อังศุมาลี และกลอนหิ่งห้อยโดยจิระนันท์ พิตรปรีชา คือเรื่องสั้นกับบทกวีที่ได้รับรางวัลจากเวทีนี้ และได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของนิตยสารในที่สุด

แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องน่ายินดี เมื่อวรรณกรรมไทยได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นก็ย่อมนำมาซึ่งกลุ่มผู้อ่านหน้าใหม่ๆ จากหลายๆ ประเทศ แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อเป็นการแปลจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษา หนึ่งในอุปสรรคที่ยากจะหลีกเลี่ยงคือ lost in translation หรือสิ่งที่สูญหายไประหว่างการแปล

เพราะผมไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว มันจึงอาจเป็นเรื่องยากอยู่สักหน่อยที่จะพูดถึงประเด็นนี้ แต่ผมบอกได้ว่า เราทำงานร่วมกับนักแปลและนักเขียนอย่างระมัดระวังเพื่อให้มั่นใจได้ว่า เรื่องสั้นและบทกวีที่ตีพิมพ์ใน The Bangkok Literary Review มีคุณภาพอย่างที่สุด จากการที่ผมคุยกับนักแปล พวกเขาก็กังวลเรื่อง lost in translation เหมือนกัน แต่มันเป็นบริบททางภาษามากกว่าที่พวกเขากังวล เมื่อเทียบกับบริบททางวัฒนธรรมที่อาจหล่นหายไปบ้างในระหว่างการแปล สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาน้ำเสียงของนักเขียนไว้ให้ได้

“ผมมีเพื่อนๆ ที่ทำงานอยู่ในวงการหนังสือที่อังกฤษ พอพวกเขาได้ยินว่าเรากำลังทำ The Bangkok Literary Review ก็พากันตื่นเต้น เพราะพวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศไทยก็มีวรรณกรรมเหมือนกัน กลับไปยังจุดเริ่มต้นที่ผมริเริ่มโปรเจกต์นี้ขึ้น จริงๆ แล้วมันมาจากความอึดอัดเมื่อได้เห็นว่า พอชาวต่างชาติจำนวนมากได้ยินชื่อประเทศไทยก็จะพากันนึกถึงโสเภณีหรือสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นมุมมองที่ตื้นเขินมาก

ดูอย่างญี่ปุ่นสิ พอนึกถึงญี่ปุ่น ไม่มีใครเขานึกถึงโรงแรมม่านรูดกันหรอก แต่มองเห็นถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายในประเทศนั้น ผมไม่ได้จะบอกว่าประเทศไทยไม่มีด้านแย่ๆ นะ เพียงแต่ผมก็อยากสร้างมุมมองดีๆ ให้กับประเทศนี้มากกว่าเจมส์เน้นเสียงอย่างมุ่งมั่น

พ้นไปจากวรรณกรรม The Bangkok Literary Review ยังประกอบไปด้วยภาพผลงานศิลปะโดยศิลปินชาวไทย เจมส์เล่าว่า งานศิลปะต่างๆ ในเล่มนี้มาจากผลงานที่เขาเคยเห็นจัดแสดงอยู่ในแกลเลอรีต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ

ผมเลือกงานศิลปะที่คิดว่าดีที่สุด และหลากหลายที่สุด เป็นเรื่องบังเอิญทีเดียวที่งานศิลปะเกือบทุกชิ้นที่ปรากฏในนิตยสารเล่มนี้เป็นงานของศิลปินหญิง และหลายๆ ชิ้นงานก็คล้ายจะพูดถึงประเด็นเดียวกัน นั่นคืออัตลักษณ์ทางเพศ

การจัดวางผลงานศิลปะในนิตยสารเล่มนี้เป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน เพราะผมเองก็ไม่อยากให้คนอ่านคิดว่า ศิลปะกับเรื่องสั้น หรือบทกวีที่ถูกจัดวางอยู่คู่กันกำลังพูดถึงประเด็นเดียวกันอยู่ ผมอยากให้คนอ่านรู้สึกว่า มันมีบทสนทนาบางอย่างกำลังเกิดขึ้นระหว่างศิลปะกับวรรณกรรม เพียงแต่มันไม่จำเป็นว่าจะต้องพูดเรื่องเดียวกันเสมอไป

สนทนากันถึงตรงนี้ เราไม่สงสัยในความมุ่งมั่นที่จะผลักดันวรรณกรรมไทยของเจมส์อีกต่อไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอีกประเด็นที่เราอดสงสัยไม่ได้ เพราะหาก The Bangkok Literary Review ตั้งใจจะขยายกลุ่มผู้อ่านวรรณกรรมไทย หากการที่เขาเลือกจะทำนิตยสารเล่มนี้เป็นเล่มจริงๆ จะไม่กลายเป็นการจำกัดวงของผู้อ่านลงมาหรือ และการทำ e-Book จะไม่ยิ่งตอบโจทย์ต่อการเข้าถึงของกลุ่มผู้อ่านทั่วโลกมากกว่าหรือ

ผมคิดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน เราเลยสร้างเว็บไซต์ของ The Bangkok Literay Review ขึ้นมา และนำเรื่องสั้นบางเรื่องไปลงไว้ ผมอาจคิดผิดก็ได้นะ แต่จากประสบการณ์ผมรู้สึกว่า คนเราจะไม่ค่อยมีสมาธิเวลาอ่านเนื้อหาบนโลกออนไลน์เท่าไหร่ เทียบกับการอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ ไอเดียของเราจึงเป็นการเผยแพร่เนื้อหาบางส่วนบนเว็บไซต์ แต่ถ้าคุณอยากอ่านทั้งเล่มก็สั่งหนังสือทั้งเล่มไป เพราะเราเชื่อว่าหนังสือยังเป็นพื้นที่ของการอ่านที่ดีสุด ทุกวันนี้ผมก็อ่านออนไลน์นะ เพียงแต่ผมจะไม่จมดิ่งกับเนื้อหาเท่ากับชั่วขณะที่อ่านหนังสือ

หลังจากทำเล่มแรกเสร็จเราก็อยากจะเริ่มทำเล่มสองต่อเหมือนกัน เพียงแต่คงต้องเริ่มจากการหาสปอนเซอร์ก่อน กับเล่มแรกนี้เราโชคดีมากๆ ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะจากห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส, MAIIAM, โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ รวมถึงนักเขียนและศิลปินทุกๆ คนที่ยินดีให้งานพวกเขามาตีพิมพ์ฟรีๆ เราเลยหวังว่ากับเล่มที่สอง เราจะมีทุนมากพอที่จะจ่ายเงินให้กับผลงานของศิลปินทุกๆ คน แม้อาจไม่ใช่จำนวนที่เยอะนักหนุ่มอังกฤษเล่าด้วยรอยยิ้ม

ก่อนจะจากกัน เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมเจมส์ถึงหลงใหลในวรรณกรรมนัก สำหรับเขาแล้ว วรรณกรรมตอบโจทย์ชีวิตอย่างไร

สำหรับผม วรรณกรรมคือการหลบหนี คุณสามารถที่จะหลบหนีจากตัวเองได้ และเมื่อคุณอ่านหนังสือเล่มนั้นๆ จบ ไม่เพียงแต่มันจะช่วยให้คุณย้อนกลับมาทบทวนตัวเองเท่านั้น แต่คุณยังได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากการอ่านวรรณกรรมด้วย ผมคิดว่าโลกในตอนนี้เคลื่อนไปข้างหน้าและเปลี่ยนแปลงไปไวมาก มันเลยยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะหาช่วงเวลาที่จะคิดและตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตอนนี้เรากำลังทำอะไร และสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ถูกต้องหรือเปล่า วรรณกรรมมอบพื้นที่ที่จะคิดถึงสิ่งเหล่านี้ให้กับเรา ที่จะเปรียบเทียบชีวิตของเรากับสิ่งที่ได้อ่านในวรรณกรรม

“ผมไม่ได้คิดว่าทุกคนเกิดมาต้องอ่านวรรณกรรมนะ แค่ว่าสำหรับมนุษย์บางคน พวกเขาอาจพบว่าภาษาอันงดงามในวรรณกรรมคือสิ่งที่ชีวิตเขาต้องการ มันก็เท่านั้นเอง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี