Jen.two เจ้าของภาพคอลัมน์ Made in Taiwan ผู้มีฉลากสินค้าและของแอนะล็อกยุคโชวะเป็นแรงบันดาลใจ

Highlights

  • ทำความรู้จักกับ Jen.Two หรือ เจินเจิน–เจนจิรา เตชกัมพู นักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ประจำคอลัมน์ Made in Taiwan

ใครเห็นคอลัมน์ Made in Taiwan ของ a day บ่อยๆ คงสะดุดตากับภาพประกอบสีสันสดใสได้ไม่ยาก นี่คือผลงานของนักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่อย่าง Jen.two หรือ เจินเจิน–เจนจิรา เตชกัมพู

Jen.Two

ก่อนจะมีนามปากกา Jen.two เธอคือเด็กที่ชอบวาดรูปตั้งแต่จำความได้ ก่อนจะเข้าศึกษาในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเริ่มต้นทำงานภาพประกอบตั้งแต่เรียนปี 2 โดยการทำซีนท่องเที่ยวเข้าร่วมในงาน Bangkok Art Book Fair 2018 ชื่อว่า Love Trip ว่าด้วยเมืองคามาคุระ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีทำเลติดทะเล มีรถไฟสีเขียวเหลืองวินเทจ แถมยังเป็นฉากหลังเพลงซิตี้ป๊อปแบบที่เจินเจินชอบ ทำให้ซีนเล่มนี้ออกมาสีสันสดใส และทำให้คนเริ่มรู้จัก Jen.two ในฐานะนักวาดภาพประกอบมากขึ้น

งานส่วนใหญ่ของเธอได้แรงบันดาลใจมาจากความคลั่งไคล้ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งข้าวของเครื่องใช้และงานศิลปะยุคเก่าก่อน ซึ่งเป็นแบบแอนะล็อก มีปุ่มกด สี และรูปทรงที่เธอหลงใหล ว่างๆ เธอยังชอบนั่งดูฉลากสินค้าญี่ปุ่นเป็นชีวิตจิตใจ นอกจากนี้ปกอัลบั้มซิตี้ป๊อปของญี่ปุ่นและโฆษณายุคโชวะก็มีอิทธิพลต่อมู้ดแอนด์โทนในงานของเจินเจินไม่น้อย 

Jen.Two

แต่กว่าจะได้นำความชอบมารวมกับความสามารถแล้วพัฒนาออกมาเป็นลายเส้นแบบนี้ เจินเจินต้องลองฝึกวาดมือทั้งในกระดาษ ในคอมฯ และทดลองวาดในหลายๆ รูปแบบ “จริงๆ ลายเส้นของเราเปลี่ยนไปทีละนิดทุกปี เราสังเกตว่าลายเส้นมันโตไปกับเรา ซึ่งมันเกิดจากการที่เราลองวาดหลายๆ วิธี ลองใช้เทกซ์เจอร์หลายๆ แบบ หรือการค้นหาชุดสีที่ชอบจากมู้ดแอนด์โทนของภาพ ให้สีช่วยสื่อสารพลังบวก สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น และพัฒนางานตัวเองได้เรื่อยๆ”

นอกจากผลงานในคอลัมน์ Made in Taiwan แล้ว เจินเจินยังได้ออกแบบโปสเตอร์และซีนใน Bangkok Art Book Fair, นิทรรศการขนาดจิ๋วในร้านไลฟ์สไตล์อย่าง Frank Garcon ไปจนถึงออกแบบลายไฟแช็กของแบรนด์ Luis ด้วย ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะเราได้ขอให้เจินเจินเลือกผลงานที่เธอชอบ 5 ชิ้นมาให้ทุกคนได้ดู ใครรู้ตัวว่าภาพประกอบแบบนี้แหละที่ฉันชอบ ไปอ่านแนวคิดเบื้องหลังจากเจินเจินได้เลย

 

Jen.Two

Since 1986 (Kamboja Press x Jen.two)

“ชิ้นงานนี้เริ่มต้นขึ้นจาก Kamboja Press จากประเทศอินโดนีเซียชักชวนให้ทำผลงานในหัวข้อริโซกราฟ ซึ่งเป็นเทคนิคการพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ของบริษัทญี่ปุ่นที่เกิดในช่วงปี 1980 เอกลักษณ์คือมันจะเป็นจุดๆ

“เราวาดภาพจำลองสถานที่พิมพ์ริโซกราฟที่เต็มไปด้วยวัตถุและสีสันที่สร้างบรรยากาศย้อนยุค หลังจากวาดภาพเสร็จก็ส่งไปให้ทาง Kamboja พิมพ์ริโซกราฟด้วย”

 

Jen.Two

Merry Christmas & Stay Safe

“ชิ้นนี้เป็น ส.ค.ส.ที่เราทำขึ้นในช่วงส่งท้ายปี 2020 ที่ผ่านมา เบื้องหลังงานนี้เริ่มต้นมาจากการจินตนาการถึงการทำงานของซานตาคลอสในช่วงโรคระบาดว่าน่าจะมีขั้นตอนอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง เลยวาดให้คนโผล่ขึ้นมาจากปล่องไฟเพื่อวัดไข้ก่อนอนุญาตให้ซานตาคลอสเข้าไปส่งของขวัญ จริงๆ เรามีภาพช่วงปีใหม่หลายรูป แต่คิดว่ารูปนี้ฮาที่สุด เลยเลือกมาให้ทุกคน”

 

Jen.Two

Playtime

“ชิ้นนี้เป็นงานส่วนตัวที่วาดเพื่อแสดงในโปรเจกต์ DAY-NIGHT GALLERY ในเทศกาล Chiang Mai Design Week 2020 ไอเดียของงานนี้เริ่มต้นจากการที่หลายครั้งเราทำงานภาพประกอบแล้วเครียดกับมันมากไปหน่อย งานนี้เลยอยากให้ตัวเองได้ผ่อนคลายจะได้ปลดปล่อยไอเดียได้เต็มที่ เลยเลือกใช้คำว่า Playtime เพื่อเปรียบเทียบว่าบางครั้งการทำงานก็เหมือนการได้เล่นสนุก

“ช่วงนั้นเราสนใจภาพออฟฟิศยุคก่อนๆ พอดี ข้าวของที่นำมาใส่ในภาพเลยเป็นพวกของใช้ในโต๊ะทำงานที่เป็นแอนะล็อกหมดเลย เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องเขียน โทรศัพท์ คนดูงานเราแล้วน่าจะมีความสุขที่ได้ดูว่ามีวัตถุที่เขาเคยเห็นหรือเคยใช้สมัยก่อน ซึ่งกับตัวเราเองงานชิ้นนี้ก็ได้เล่นสนุกหลายอย่าง ทั้งเรื่องสี เทกซ์เจอร์ และได้วาดสิ่งของจากยุคที่เราชอบลงไปในงานด้วย” 

Made in Taiwan

“ผลงานภาพประกอบคอลัมน์ Made in Taiwan ของ a day ออกเป็นประจำทุกเดือน เบื้องหลังการทำงานก็จะเป็นการอ่านเนื้อหาในคอลัมน์และตีความออกมาเป็นรูปภาพ ซึ่งเป็นงานที่สนุก เพราะจะได้อ่านเรื่องราวใหม่ๆ พร้อมกับท้าทายตัวเองในการวาดภาพออกมาในหัวข้อต่างๆ ด้วย

“ยกตัวอย่างเช่นบทความเรื่อง ‘จุดธูป เตรียมของไหว้ แล้วไปขอพร เปิดวาร์ปวัดดังและสูตรขอความรักฉบับคนไต้หวัน’ ประจำเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 จริงๆ เรื่องนี้ความยากไม่ได้อยู่ที่การตีความแต่เป็นเรื่องการวาดภาพออกมายังไงไม่ให้ซ้ำและน่าสนใจ ไอเดียของเราคือลองใช้วิชวลจากกล่องประทัดโบราณของจีน ซึ่งสามารถใส่รูปขั้นตอนการไหว้ขอพรความรักได้ทั้งสามขั้นตอน ตั้งแต่จุดธูปขอพร เสี่ยงปัวะป้วย และการได้ด้ายแดงมาพกติดตัว และใส่พวกรายละเอียดเล็กๆ จากวัดไปในภาพได้ด้วย เช่น ปัวะป้วยคว่ำ-หงาย ดอกไม้จากสถาปัตยกรรมวัด ของไหว้ และน้ำชา” 

Stay home

“ยุคโชวะเป็นยุคที่เราชอบมาก มันคือยุคที่ญี่ปุ่นฟื้นฟูหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเรียกว่าเป็นยุคทองของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ มีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งก็เป็นข้าวของเครื่องใช้ในยุคแอนะล็อก มีมูฟเมนต์ที่ญี่ปุ่นรับมาจากต่างประเทศแล้วปรับเข้ากับวัฒนธรรมของตัวเอง ทำให้ประเทศดูเจริญทัดเทียมระดับสากล

“ในช่วงกักตัวที่ผ่านมา เราลองจินตนาการเล่นๆ ว่าถ้าเอาความไม่ปกติในปัจจุบันไปใส่ในยุคโชวะดูจะเป็นยังไง ถ้าเราต้องอยู่บ้านกับข้าวของแบบแอนะล็อกหมด การไปมาหาสู่หรือการรับรู้ข่าวสารคงไม่ได้รวดเร็วอย่างทุกวันนี้ มันจะรู้สึกยังไง ผู้คนจะเป็นยังไงบ้าง เราวาดออกมาเป็นโปสเตอร์ มีทั้งคนที่ดูทีวีทั้งวัน คนที่อยากเล่นเกมที่เป็น multiplayer และคนที่ใช้โทรศัพท์บ้านตลอดเวลา”


ติดตามผลงานของ Jen.two ได้ที่ www.instagram.com/jen.two/

AUTHOR