ฮาวทูเนรมิต ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ ม็อบที่ครีเอทีฟและปังปุริเย่ที่สุดแห่งยุคสมัย

Highlights

  • ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล คือม็อบ LGBTQ+ ที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีการหยิบเอาวัฒนธรรมเควียร์ในไทยมาออกแบบบรรยากาศและกิจกรรมด้วย ซึ่งนอกจากการประกาศ 3 จุดยืนในมูฟเมนต์ประชาธิปไตยช่วงนั้นแล้ว ยังมีข้อเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย
  • ผู้อยู่เบื้องหลังม็อบนี้คือกลุ่มเสรีเทยพลัส แรปเตอร์–สิรภพ อัตโตหิ จับมือร่วมกับ มายมิ้น–ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ ที่ต้องการชี้ให้ขบวนการประชาธิปไตยเห็นว่าความเท่าเทียมทางเพศคือส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย และต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปพร้อมกัน
  • จากกิจกรรมแจวเรือประชาธิปไตย การต่อบทภาพยนตร์ หอแต๋วแตก การนำธงสีรุ้งลงไปเดินขบวนบนถนน และกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจสนับสนุนผู้ค้าที่ถนนข้าวสารแล้ว ม็อบไม่มุ้งมิ้งฯ ยังปังปุริเย่ด้วยประเด็นการปราศรัยที่ครอบคลุมจนได้คำชมว่าเป็นม็อบที่เริ่ดที่สุดแห่งยุค

“ที่เจ๊ด่าหนูชังชาติ หนูไม่ว่าอะไร”

“แต่ที่เจ๊ไล่หนูออกจากบ้าน นี่บ้านมึงเหรอ”

เรายังจำได้ดีถึงบรรยากาศที่ผู้ชุมนุม ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ ตะโกนพูดไดอะล็อกจากภาพยนตร์ หอแต๋วแตก จนกลายเป็นไวรัล ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการชุมนุมไทยที่มีการนำเควียร์คัลเจอร์มาเป็นกิมมิกหลักในขบวนการเรียกร้อง

หากย้อนเวลากลับไปตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงตอนนี้ สถานการณ์การเมืองไทยถือว่าเข้มข้นและร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ เส้นกราฟขีดตรงของการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในโลกออนไลน์ค่อยๆ ทะยานพุ่งสูงเป็นการนัดแนะลงถนนภายใต้กรอบกฎหมายและมาตรการป้องกันโควิด-19 นำไปสู่การนัดชุมนุมตามมหาวิทยาลัย ก่อนจะต้องหยุดพักการชุมนุมไปชั่วคราวเพราะการระบาดของไวรัสที่นำมาสู่การล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

ภานุมาศ สงวนวงษ์ / Thai News Pix

มาถึงเดือนกรกฎาคม กลุ่มเยาวชนปลดแอกนัดชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จุดประกายให้เกิดม็อบอื่นๆ ตามมาอีกจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ ที่จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคมในสถานที่เดียวกัน และได้กลายมาเป็นม็อบที่มีสีสันที่สุด สนุกที่สุด และครีเอทีฟที่สุดในประวัติศาสตร์การชุมนุมของประเทศไทย

เนื่องในโอกาสที่ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาลจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายนนี้ เราจึงชวนผู้อยู่เบื้องหลัง (และเบื้องหน้า) ของม็อบอย่าง แรปเตอร์–สิรภพ อัตโตหิ สมาชิกกลุ่มเสรีเทยพลัสมาพูดคุยถึงฮาวทูการทำม็อบยังไงให้ปังปุริเย่และยังคงไว้ซึ่งหัวใจสำคัญของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ

1. ใครก็จัดม็อบได้ถ้ามีความตั้งใจ

“หลังจากกลุ่มเยาวชนปลดแอกจัดแฟลชม็อบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็มีแฟลชม็อบอื่นตามมาเรื่อยๆ ที่ปั่นๆ หน่อยก็มีแฟลชม็อบชวนไปชมสวน (วันที่ 21 กรกฎาคม ณ​ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) ตอนนั้นในทวิตเตอร์มีการเล่นแฮชแท็ก #ไอเดียออกม็อบ เราเลยทวีตเล่นๆ ว่าถ้าจะทำม็อบ LGBTQ+ มีธีมอะไรบ้างที่เข้ากับวัฒนธรรมเควียร์ในไทย เราเสนอภาพยนตร์เรื่อง หอแต๋วแตก ที่เป็นที่นิยมในหมู่กะเทยและคนแต่งแดร็กควีน คนก็รีทวีตไปเยอะมากแล้วมีคนมาชวนให้ทำจริง เลยเกิดเป็นม็อบ ‘ไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ ขึ้นมา”

แรปเตอร์เล่าถึงที่มาที่ไปของการเดบิวต์สู่วงการคนจัดม็อบให้เราฟัง ซึ่งนอกจากเธอแล้ว อีกตัวตั้งตัวตีของม็อบยังมี มายมิ้น–ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ เพื่อนนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาร่วมด้วยช่วยปั้นให้ม็อบนี้เกิดขึ้นจริง

ความตั้งใจของทั้งสองคนในตอนนั้นคือการเน้นย้ำถึง 3 จุดยืนสำคัญที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกตั้งธงไว้ ประกอบด้วย หนึ่ง–รัฐบาลต้องหยุดคุกคามประชาชน สอง–ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชน สาม–ต้องยุบสภาเพื่อเปิดทางให้ประชาชนเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง

นอกจากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ อีกหนึ่งความต้องการของม็อบไม่มุ้งมิ้งฯ​ คือการเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้บุคคลทุกเพศสามารถสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากเหล่าผู้จัดม็อบมองว่าขบวนการประชาธิปไตยมักหลงลืมและมองข้ามเรื่องความเท่าเทียมทางเพศไป

“ก่อนหน้านั้นก็มีปรากฏการณ์เกี่ยวกับเฟมทวิต มีคนพูดประมาณว่าเฟมินิสต์และ LGBTQ+ เรียกร้องแต่เรื่องของตัวเองไม่เรียกร้องประชาธิปไตย เราเลยอยากทำม็อบที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เชื่อมโยงกันและต้องเรียกร้องไปพร้อมกัน” แรปเตอร์เสริม

คิดได้ดังนั้น เธอกับมายมิ้นก็ลงมือเตรียมงานทันที เริ่มจากการลิสต์กิจกรรมคร่าวๆ อย่างรวดเร็วและประกาศจัดม็อบในโซเชียลมีเดียในวันถัดมา รวมถึงแบ่งหน้าที่กันติดต่อประสานงานกับคนในแวดวงที่รู้จัก หลักๆ แรปเตอร์รับหน้าที่ดูแลคอนเทนต์และเป็นพิธีกร ส่วนมายมิ้นดูแลรับผิดชอบงานหลังบ้าน เป็นคนออกแบบ กำหนดทิศทาง และลำดับงาน

และที่เซอร์ไพรส์คือแม้จะเป็นม็อบแรกในชีวิตและมีสเกลใหญ่ขนาดนี้ แต่ทีมเบื้องหลังใช้เวลาเตรียมการเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น

“งานนี้เรียกว่าเป็น one day miracle เหมือนกันนะเพราะพวกเราไม่เคยทำม็อบกันมาก่อน แถมมีเวลากระชั้นชิดอีก ต้องขอบคุณทุกคนที่มาช่วยเราในวันนั้น เป็นความโชคดีมากที่ได้ผู้ปราศรัยที่ดีบนเวที รันงานได้อย่างราบรื่น ส่วนหนึ่งคิดว่าเพราะเราติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ก่อนหน้าแล้ว บวกกับมีการสร้างกิจกรรมและบรรยากาศให้เหมือนงานรับน้องในมหาวิทยาลัย เลยเฟรนด์ลี่ ปลอดภัย และสนุก”

2. ชื่อม็อบต้องติดหูและมีเหตุผลรองรับ

แม้จะไม่เคยทำม็อบกันมาก่อนแต่ทั้งแรปเตอร์และมายมิ้นพอมีองค์ความรู้ในการจัดกิจกรรมใหญ่ๆ มาบ้าง รวมถึงมีคอนเนกชั่นกับคนที่ทำงานเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้ภายในระยะเวลาที่จำกัดพวกเธอสามารถจัดม็อบที่มีพื้นที่สำหรับการปราศรัยที่เข้มข้นจริงจังและกิจกรรมสันทนาการที่สนุกสร้างสรรค์แต่แอบกัดรัฐบาลไปด้วยอย่างกลมกลืน

แต่ใช่ว่าทั้งสองคนจะไม่มีความเห็นขัดแย้งกันเลย เพราะกว่าจะได้ชื่อม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาลนั้น แรปเตอร์กับมายมิ้นก็ต้องถกเถียงกันอยู่นาน

“เราต้องการชื่อม็อบที่ติดหู จำง่าย ฟังแล้วรู้เลยว่าเป็นม็อบเกี่ยวกับอะไร ซึ่งก่อนหน้าจะมีม็อบนี้คนของรัฐบาลบอกว่าม็อบที่เกิดขึ้นเป็นม็อบมุ้งมิ้ง เด็กๆ จัดกันเล่นๆ เอาสนุก เราก็เลยหยิบคำว่ามุ้งมิ้งมาใช้ แต่เปลี่ยนให้เป็น ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้ง’ และเพราะม็อบของเราจะพูดเรื่องเพศ เราเลยเติม ‘แต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ เข้าไปเพื่อยั่วล้อกับภาพจำของ LGBTQ+ ที่ถูกแปะป้ายไว้

“อีกสิ่งที่สำคัญคือเราต้องการบอกคนในขบวนการประชาธิปไตยด้วยว่าคนที่มีลักษณะตุ้งติ้งก็สามารถออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยได้เหมือนกัน ตอนแรกมายมิ้นไม่อยากให้ใช้คำว่าตุ้งติ้งเพราะกลัวเป็นการตอกย้ำภาพจำและอาจเป็นการลดทอนคุณค่าทางเพศ แต่เรามองว่านี่คือผลของระบบชายเป็นใหญ่ที่กดทับเรามาอย่างยาวนานฝังลึก ดังนั้นการใช้ชื่อนี้จึงเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เนื่องจากเราพูดเรื่องการเมืองไปด้วยและเป็นการยั่วล้อกับภาพจำเก่าๆ สั่นคลอนอำนาจของปิตาธิปไตยไปด้วย”

3. ม็อบสนุกได้ แต่ต้องจริงจังด้วย

เพราะไม่มีใครเข้าใจความเจ็บปวดของคนอื่นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อต้องวางแผนกิจกรรมและเลือกผู้ปราศรัยบนเวที แรปเตอร์กับมายมิ้นจึงยึดหลักการ ‘ไม่คิดแทนคนอื่น’ และพยายามรวมผู้ปราศรัยที่มีความหลากหลายทางเพศให้ครอบคลุมที่สุด ทั้งทรานส์เจนเดอร์ เลสเบี้ยน เกย์ นอน-ไบนารี และไบเซ็กชวล 

นอกจากหัวข้อเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศและประสบการณ์การเหยียดเพศที่แต่ละคนเจอมากับตัว บนเวทียังพูดถึงประเด็นการเมืองอื่นๆ ที่คาบเกี่ยวกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกณฑ์ทหาร sex worker หรือกระทั่งผู้ถูกอุ้มหาย เป็นต้น จุดนี้เองที่ทำให้ผู้มาชุมนุมทั้งหน้างานและในโลกออนไลน์ชื่นชมในประเด็นที่ม็อบเลือกมานำเสนอ

ขณะเดียวกันพิธีกรก็มีการเน้นย้ำถึง 3 ข้อเรียกร้องและการผลักดันแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรสตลอดการชุมนุม เพื่อบอกผู้ที่ตามมาทีหลังหรือคนที่ย้อนดูทางออนไลน์ว่าม็อบนี้จัดขึ้นเพื่ออะไรและสนับสนุนจุดยืนใด 

ในขณะที่ฝั่งการปราศรัยออกแบบเนื้อหามาแน่นเปรี๊ยะ ฝั่งสันทนาการก็ออกแบบกิจกรรมมาเป็นอย่างดีโดยให้ผู้ร่วมชุมนุมมีส่วนร่วมกับกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นมาเต้น ‘แจวประชาธิปไตย’ ที่บิดเนื้อเพลงแจวให้สอดคล้องกับการเมือง มีกิจกรรมด่าตุ๊กตาที่ใช้การต่อบทจากภาพยนตร์เรื่อง หอแต๋วแตก (โดยตั้งชื่อตุ๊กตาเป็นชื่อเดียวกับชื่อเล่นของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) สุดท้ายม็อบก็จบการชุมนุมด้วยการนำธงสีรุ้งผืนใหญ่ลงไปเดินขบวนบนถนนและเชิญชวนให้แยกย้ายกันไป ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ สนับสนุนพ่อค้าแม่ค้าที่ถนนข้าวสารที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย

ถึงแม้ว่าวันนั้นจะมีผู้มาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่แรปเตอร์คาดการณ์ไว้ แต่งานก็ออกมาราบรื่นและได้รับผลตอบรับที่ดีมากจนม็อบไม่มุ้งมิ้งฯ กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการสร้างมาตรฐานถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยระดับโครงสร้างที่ต้องตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศไปด้วย

4. สร้างบรรยากาศให้ปลอดภัยสำหรับทุกคน

สิ่งที่น่าสนใจของม็อบไม่มุ้งมิ้งฯ ไม่ใช่แค่การสื่อสารและเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ แต่ยังเป็นการคุมบรรยากาศภายในม็อบให้ไม่น่ากลัวขึงขังจนเกินไป ผู้ชุมนุมจึงรู้สึกปลอดภัยในการเข้าร่วม

นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะแรปเตอร์ยืนยันว่าเธอตั้งใจออกแบบบรรยากาศนี้ในการชุมนุมจริงๆ

“ภาพการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นภาพของผู้ชายมาตลอด เวลาที่ขับเคลื่อนประเด็นการเมืองคนเลยติดภาพจำความเป็นชายบางอย่าง เช่น ความจริงจัง ความเจ็บปวดโกรธแค้น และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือผู้หญิงมักจะไม่มีเสียงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งที่ทุกคนล้วนมีจุดร่วมตรงที่ถูกกดขี่มาเหมือนกัน มีความโกรธแค้นและเจ็บปวดไม่ต่างจากผู้ชาย

“ขนาดในระดับโครงสร้าง ส.ส.ผู้หญิงที่เข้าไปในสภาก็ยังถูกเรียกว่าเป็น ส.ส.ไม้ประดับ หรือในแง่คำพูดคำจา ส.ส.ผู้หญิงก็ถูกเรียกว่า ‘หนู’ หรือ ‘คนสวย’ ทั้งที่ ส.ส.ผู้ชายถูกเรียกว่า ‘คุณ’ ยังไม่นับรวมสัดส่วนของ ส.ส.ผู้หญิงที่มีน้อยกว่า ส.ส.ผู้ชายด้วย ซึ่งส่งผลถึงการเสนอนโยบายและมุมมองทางการเมืองที่เกี่ยวกับเพศ”

ด้วยเหตุนี้บรรยากาศกิจกรรมในม็อบจึงเป็นการรวมเควียร์คัลเจอร์ในไทยที่สนุกสนานและมีสีสัน ปลดแอกจากความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีการแตะหลายประเด็นที่อาจไม่ถูกพูดถึงมากในเวทีอื่น เช่น เรื่องบริการทางเพศ การเกณฑ์ทหาร ความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ผู้ฟังเห็นว่าผู้หญิงและ LGBTQ+ ก็สามารถลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเพื่อสังคมการเมืองได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องสมาทานคุณค่าความเป็นชายเพื่อมีตัวตนในกลุ่มนักเคลื่อนไหว

ในวงการภาพยนตร์มีเทคนิคที่เรียกว่า Breaking the 4th Wall หรือการทลายกำแพงของหนังเพื่อให้ตัวละครคุยกับคนดูได้โดยตรง ม็อบไม่มุ้งมิ้งฯ ที่ต้องการสื่อสารกับผู้มีอำนาจก็หยิบเทคนิคคล้ายๆ กันมาใช้ ในช่วงท้ายๆ ของม็อบแรปเตอร์ก็ร้องเพลงแจวเชิญชวนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาควบคุมดูแลความเรียบร้อยลุกขึ้นมาเต้นด้วยกันเสียเลย (แต่ไม่มีใครกล้าเต้น) สิ่งนั้นเธอถือว่าเป็นการยั่วล้อและลดทอนอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่มักนำมาใช้กดขี่ผู้ชุมนุม อันเป็นวิธีการหนึ่งในการต่อสู้แบบสันติ เช่นเดียวกันกับการล้อเลียนรัฐบาลและผู้มีอำนาจที่เหนือกว่า

“เวลาต่อสู้กับอำนาจนิยม เราถูกกดทับหลายด้าน หลายภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องการแสดงออกถึงการต่อต้าน ยิ่งสิ่งที่เราต่อต้านมีอำนาจและศักดิ์สิทธิ์มากเรายิ่งพูดถึงได้ยาก บางเรื่องแค่ตั้งคำถามยังยากเลยเพราะเรายังมีความกลัวอยู่ ดังนั้นเมื่อการพูดถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์ทางตรงเป็นไปได้ยากเราจึงต้องใช้การล้อเลียนเสียดสีเพื่อต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ เปิดพื้นที่ที่ตลก สนุกสนาน และปลอดภัยที่จะพูดขึ้นมา

“เราอาจเริ่มจากการพูดอ้อมๆ ก่อนแล้วค่อยเริ่มชัดเจนขึ้น ทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองเข้าใกล้กับอำนาจนั้นได้มากขึ้น หลักๆ คือลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจ เพราะอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์แปลว่าจะเล่นด้วยไม่ได้ แต่อะไรที่เท่ากันเราจะกล้าเล่นด้วยได้

“แต่เราต้องทำแบบนี้ไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบจริงจัง ไม่จำเป็นต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง การต่อสู้มีหลายรูปแบบและไม่ตายตัว สุดท้ายถ้าเป้าหมายเราคือการเรียกร้องความเท่าเทียมเหมือนกัน มันก็ต้องทำไปพร้อมกันได้”

5. ทุกคนเท่ากัน สิทธิเท่าเทียม

ม็อบไม่มุ้งมิ้งฯ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 พฤศจิกายนจะเป็นยังไงบ้าง พอบอกได้ไหม–เราตั้งคำถามกับแกนนำ ก่อนได้รับรอยยิ้มตอบกลับมา

“โดยรวมเรายังยืนยันในจุดยืนของมูฟเมนต์ประชาธิปไตยและจะมีการเพิ่มข้อเสนอที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศของเราไปด้วย ส่วนภาพรวมกิจกรรมรอบนี้จะใหญ่กว่าเดิม มีการลงทุนมากกว่าม็อบครั้งก่อน” 

แรปเตอร์แอบบอกว่ากิจกรรมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในม็อบรอบนี้คือ Pride Parade แต่อย่าเพิ่งคิดภาพการเดินขบวนหลากสีเพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศในต่างแดนเพราะผู้จัดงานบอกว่างานนี้พวกเขาตั้งใจให้ทุกคนมาเดินไปด้วยกันเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมจึงตั้งชื่อขบวนว่า ‘ไพร่ พาเหรด’ สื่อถึงชุมชนหลากหลายทางเพศที่ถูกกดทับจากโครงสร้างสังคม โดยเส้นทางที่ใช้จะเริ่มตั้งแต่สามย่านไปจนถึงสีลม–ย่านที่เป็นภาพจำของคนไทยว่าเป็นย่านของเกย์ เพื่อเป็นการยั่วล้อกับประเด็นเรื่องเพศเช่นกัน

เพราะม็อบไม่มุ้งมิ้งฯ ครั้งก่อนได้รับเสียงตอบรับมากมาย หลายคนจึงกะว่าม็อบไม่มุ้งมิ้งฯ เวอร์ชั่นสองนี้จะมีคนมาร่วมมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกลุ่มคนนอกชุมชน LGBTQ+ ที่อยากมาเรียนรู้ ซึ่งม็อบนี้ก็พร้อมจะต้อนรับอย่างอบอุ่น สนุกสนาน และปังปุริเย่เช่นเคย

“สเตรทที่มาน่าจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศรวมถึงการเรียกร้องของเรามากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วคอนเซปต์ของประชาธิปไตยคือการที่มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ดังนั้นถ้าคุณเข้าใจความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับชนชั้นแรงงาน ทำไมคุณถึงไม่เข้าใจความไม่เป็นธรรมที่ผู้หญิงและ LGBTQ+ ต้องเจอล่ะ ทั้งที่มันก็คือความไม่เท่าเทียมเหมือนกัน 

“ดังนั้นเราจึงต้องเรียกร้องประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กัน ไม่ต้องจัดลำดับความสำคัญว่าอันไหนก่อนอันไหนหลัง เราสู้ทุกเรื่องไปด้วยกันได้”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน