จิบครีมโซดารสละมุนที่ ‘House of Nowhere’ โฮมคาเฟ่ที่ใส่ใจลูกค้าจริงจังพอๆ กับการคิดเมนูอร่อย

Highlights

  • House of Nowhere คือโฮมคาเฟ่ในซอยปรีดีพนมยงค์ 42 นอกจากพื้นที่คาเฟ่แล้วที่นี่ยังมีสตูดิโอถ่ายภาพและแกเลอรีเป็นของตัวเอง
  • สองเจ้าของร้านอย่าง เคน–เอกพล พันธุ์พัฒน์ และเน้ย–รภัสสา โพธิ์ศิริ ไม่เพียงแต่จริงจังเรื่องการทำร้านและการเทคแคร์ลูกค้าเท่านั้น ด้วยความเชื่อที่ว่า 'เครื่องดื่มคือหัวใจสำคัญของคาเฟ่' ทุกเมนูซิกเนเจอร์ในร้านจึงผ่านโพรเซสการคิดมาอย่างเข้มข้น
  • แพลนที่พวกเขาวางไว้ในอนาคตคืออยากทำที่นี่ให้เป็นคาเฟ่ที่มีเวิร์กช็อปและเป็นพื้นที่ปล่อยของให้กับคนอื่นๆ เกิดคอมมิวนิตี้ให้คนจากสองฝั่งที่ต่างกันมาคอนเนกต์และทำอะไรด้วยกัน

คนทุกคนสมควรมีพื้นที่ที่ตัวเองอยู่แล้วอุ่นใจ ยิ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบากหรือบอบช้ำจากการงาน คนรัก หรืออะไรก็ตามแต่ พื้นที่สมานแผล (หรือพื้นที่ที่เดินเข้าไปแล้วสามารถเอ่ยปากว่า ‘ได้โปรดช่วยเซฟฉันที’) ก็ยิ่งจำเป็น

บางคนนิยามที่ตรงนั้นว่า ‘บ้าน’ แม้ว่าลักษณะทางกายภาพอาจจะไม่ใช่พื้นที่สำหรับพักอาศัยจริงๆ แต่ด้วยมวลบางอย่างที่ส่งผลต่อความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เสียง เก้าอี้นั่งสบายสักตัว หรือคนที่คุยด้วยแล้วสบายใจ โฮมคาเฟ่ที่มีสตูดิโอถ่ายภาพและแกเลอรีของตัวเองอย่าง House of Nowhere แห่งซอยปรีดีฯ 42 จึงเป็นพื้นที่ที่เหมือนบ้านสำหรับเราและใครอีกหลายคน

นอกจากจะเป็นคาเฟ่ที่ให้บรรยากาศ feel likes home แล้ว การครีเอตเมนูเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ของร้านนี้ บอกเลยว่าถ้าได้รู้ความตั้งใจเบื้องหลังของแต่ละแก้ว คุณจะต้องอยากวนกลับมากินมันซ้ำอีกครั้งและอีกครั้ง

เราขอแนะนำ เคน–เอกพล พันธุ์พัฒน์ และ เน้ย–รภัสสา โพธิ์ศิริ คู่รักเจ้าของร้านให้รู้จักแบบรวบรัด เคนคืออดีตสจวร์ดที่ผันตัวเองเป็นช่างภาพสตรีทเวดดิ้ง ส่วนก่อนหน้านี้เน้ยเป็นแอร์โฮสเตสที่อินกับงานของตัวเองมากๆ ทั้งคู่เจอกันในช่วงจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต 

ระหว่างที่ความรักและความเข้าใจงอกงาม เคนและเน้ยจับมือกันสร้างพื้นที่ที่เป็นจุดร่วมของสิ่งที่พวกเขาอยากทำ เคนอยากมีสตูดิโอถ่ายภาพ เน้ยอยากทำคาเฟ่และเปิดแกลเลอรีสำหรับโชว์งานภาพถ่ายของเคน รวมทั้งนักสร้างสรรค์คนอื่นๆ ที่พวกเขาชื่นชม

หากการได้เจอกันของทั้งคู่คือพรหมลิขิต จุดเริ่มต้นของโฮมคาเฟ่และสตูดิโอที่ชื่อว่า House of Nowhere ตั้งแต่การเจอบ้านหลังเก่านี้โดยบังเอิญ การรีโนเวตและตกแต่ง และชีวิตของผู้คนหลากหลายแบ็กกราวนด์ที่วนเวียนเข้ามาที่นี่ก็คงเป็นแบบนั้นเหมือนกัน

“โมเมนต์ที่เจอที่นี่มัน out of nowhere มากๆ” 

“พี่เคนเลี้ยวเข้าซอยผิดจนมาเจอที่นี่” เน้ยเริ่มต้นเล่าโมเมนต์แรกที่เห็นบ้านไม้สีขาวหลังนี้ด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น 

“ก่อนหน้านี้เราขับรถไปดูที่มาหลายที่แล้ว และใช้เวลาเป็นเดือนๆ ก็ไม่เจอที่ที่ถูกใจสักทีจนเกือบถอดใจ พอมาเจอตรงนี้ เห็นป้ายให้เช่าปุ๊บเราก็โทรติดต่อขอเข้ามาดู พอเปิดประตูเข้ามามันเหมือนเราเห็นภาพในหัวตั้งแต่วินาทีแรกเลยว่าเคาน์เตอร์กาแฟต้องอยู่ตรงไหน โต๊ะที่ใช้ต้องเป็นยังไง โซนข้างล่างเป็นคาเฟ่ ข้างบนเป็นสตูดิโอ ส่วนห้องข้างๆ ก็เป็นแกลเลอรี โมเมนต์ที่เจอที่นี่มัน out of nowhere มากๆ และด้วยโครงสร้างเก่าที่เป็นบ้าน เราเลยตั้งใจใช้ชื่อ House of Nowhere ให้ล้อกัน”

หลังจากเจรจากับเจ้าของบ้าน บ้านไม้เก่าสองชั้นสภาพดีหลังนี้ก็ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นความฝันของพวกเขา โชคดีที่เจ้าของบ้านมองออกว่าทั้งเคนและเน้ยเป็นคนรักบ้านเหมือนๆ กัน จึงไว้ใจให้การรีโนเวตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนประตูบานพับเป็นบานเลื่อน บุผนังกั้นห้อง ขนต้นไม้มาปลูก หรือกระทั่งทาสีขาวใหม่ทั้งหลังเปลี่ยนบ้านเก่าให้เป็นบ้านตามที่ทั้งคู่นึกฝัน

 

“การซื้อเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์คือการซื้อแนวคิดของดีไซเนอร์”

เจอบ้านหลังที่ถูกใจแล้ว สเตปต่อมาคือการเลือกเฟอร์นิเจอร์เข้าร้าน หลายคนนิยามที่นี่ว่าตกแต่งแบบ mid-century หรือแบบสแกนดิเนเวีย แต่ถ้าถามเคนกับเน้ย สไตล์เหล่านี้เกิดจากความชอบหยิบนั่นผสมนี่ของคนทั้งคู่มากกว่าความตั้งใจว่าอยากจะเห็นคาเฟ่ของตัวเองเป็นแบบไหน

“เริ่มต้นจากที่เราไปเจอตู้เพลงจากเดนมาร์กแล้วเราก็เริ่มไปเสิร์ชเกี่ยวกับสไตล์งานเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ของเดนมาร์ก พอเห็นเยอะๆ เข้าก็เลยเริ่มซึมซับ เริ่มซื้อสะสมมาเรื่อยๆ หรือของบางชิ้นที่ซื้อเพราะถูกใจมันก็บังเอิญเป็นของจากเดนมาร์กหรือไม่ก็จากแถบสแกนดิเนเวียตลอด” เน้ยเล่าก่อนที่เคนจะช่วยเสริม

“เราชอบสีสัน ชอบเทกซ์เจอร์ของไม้และก็ชอบวิธีการดีไซน์ อย่างโต๊ะตัวนี้ (เคนยกตัวอย่างโต๊ะไม้กลางร้าน) จริงๆ มันสามารถขยายเป็นโต๊ะขนาดใหญ่ได้ เหมือนเขาออกแบบการใช้งานอย่างตั้งใจมากๆ” 

สิ่งที่สะดุดตาคนรักเฟอร์นิเจอร์จากยุค mid-century น่าจะเป็นเก้าอี้หลายๆ ตัวของที่นี่ ส่วนตัวเราชอบเก้าอี้ไอคอนิก DSC 106 ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชาวอิตาเลียน Giancarlo Piretti สีเหลืองของที่นี่มากจนอยากชวนทุกคนมาลองนั่ง จะว่าไปแล้วการรู้จักเคนกับเน้ยยังเปิดโลกให้เราเข้าใจความสุขของคนซื้อเฟอร์นิเจอร์วินเทจ จนบางครั้งบางทีก็แอบเคลิ้มตามอยากกดซื้อเก้าอี้จากดีไซเนอร์ดังมาวางในห้องให้รู้แล้วรู้รอด

“สำหรับเราการซื้อเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์คือการซื้อแนวคิดของนักออกแบบ เหมือนว่าเราซื้องานศิลปะหนึ่งชิ้นที่นอกจากจะสวยแล้ว มันยังใช้งานได้จริง จับดูแล้วเราสามารถสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของการออกแบบ ตั้งแต่การใช้หมุด องศาของขาเหล็ก ที่เอนหลัง ทุกอย่างผ่านกระบวนการคิดมาหมดแล้ว” ลายเซ็นที่ดีไซเนอร์แต่ละคนทิ้งไว้บนงานออกแบบเป็นอีกสิ่งที่เคนและหญิงสาวข้างๆ หลงใหล

ด้วยแบ็กกราวนด์คนเล่นดนตรีอย่างเคน เปียโนหลังเก่าจึงเป็นสิ่งที่พิเศษสำหรับเขามาก

“เริ่มจากการที่เห็นพี่เคนนั่งเล่นเปียโนที่ Y50 (ร้านขายเฟอร์นิเจอร์เก่า) เรารู้สึกว่าไม่ได้ละที่ร้านต้องมีเปียโน (หัวเราะ) เราสองคนรู้สึกว่าเสียงมันเพราะและน่าจะเหมาะกับบรรยากาศร้าน หลังจากนั้นก็กลับมาดูร้านว่ามีมุมไหนพอจะใส่เปียโนได้บ้าง ลงเอยที่มุมใต้บันไดหน้าบาร์นี้” เน้ยชิงเล่าก่อน

“ของทุกชิ้นในร้านเรากับเน้ยช่วยกันเลือก มันมีความเป็นเราอยู่ทุกที่เลย แต่เปียโนตัวนี้ค่อนข้างเป็นมุมที่ชอบส่วนตัวเพราะเวลานั่งเล่นเราต้องหันหลังให้กับทุกคน เหมือนเป็นที่สงบที่อนุญาตให้เราปิดสวิตซ์จากโลกภายนอก” เวลาที่ลูกค้าบางตาหรือวันที่เพื่อนนักดนตรีของเคนและเน้ยแวะเวียนเข้ามานั่งเล่นที่ร้าน เราจะได้ยินเสียงจากเปียโนตัวนี้ดังขึ้น และมู้ดของร้านก็ดูอบอุ่นขึ้นหนึ่งสเตปโดยที่พวกเขาไม่ได้ตั้งใจ

 

“เครื่องดื่มคือหัวใจที่สำคัญที่สุดของคาเฟ่”

แม้จะรู้จักเคนและเน้ยอยู่แล้ว แต่สิ่งใหม่ที่เราได้เรียนรู้จากบทสนทนาที่เกิดขึ้นวันนี้คือทั้งคู่จริงจังกับการคิดเมนูเครื่องดื่มมากจนน่าประทับใจ

“เครื่องดื่มคือหัวใจที่สำคัญที่สุดของคาเฟ่” เคนย้ำ “อย่างเมนูต่างๆ ของที่ร้านมันเริ่มต้นจากเวลาที่เราไปดื่มเครื่องดื่มที่ไหนเราจะชอบตั้งคำถามว่าเขาใส่วัตถุดิบนี้มาทำไม หลังๆ มันเลยกลายเป็นว่าหลายร้านใส่เพื่อความสวยงามแต่ไม่ได้ส่งผลอะไรกับรสชาติ เราไม่อยากสร้าง waste พอทำร้านเองเราก็อยากคิดก่อนว่าเราจะใส่สิ่งนี้ไปเพื่ออะไรและโฟกัสกันที่เรื่องรสชาติ ถ้าอะไรไม่จำเป็นไม่ใส่ดีกว่าไหม นี่คือเหตุผลที่หน้าตาเมนูร้านเราดูธรรมดามากๆ และเราอยากให้ทุกคนได้กินในสิ่งที่เราตั้งใจทำมาจริงๆ”

เมนูซิกเนเจอร์ที่ทั้งคู่ภูมิใจเสนอสุดๆ มีชื่อว่า ‘Golden Bear’

“เราคุยกันว่าอยากทำเมนูกาแฟที่ไม่เข้มมากเพราะลูกค้าบางกลุ่มวันนี้เขาอาจจะกินกาแฟเข้มๆ มาหลายแก้วแล้ว หรือบางคนไม่อยากดื่มชาหรือช็อกโกแลต ดังนั้นเมนูกาแฟที่ใส่ช็อตกาแฟบางๆ และมีรสชาติอื่นเข้ามาเสริมน่าจะตอบโจทย์สุด” เนยเริ่มต้นเล่า

“ตอนแรกก็ลองแบบธรรมดาก่อนคือใช้น้ำผลไม้ผสมกาแฟ พอชิมแล้วเรารู้สึกว่าอยากให้เทกซ์เจอร์ของมันมีความฟูมีความซ่าด้วย คำถามต่อมาคือมันควรจะซ่าระดับไหน ใช้โซดายี่ห้ออะไร หรือต้องเป็นโทนิกผสมโซดา โซดาตัวไหนที่มีความเป็นกรดมากรสขมของกาแฟก็จะชัดขึ้น เราไม่อยากให้รสขมของกาแฟมันโดดมากก็เลยเลือกโซดาที่ไม่ทำให้กาแฟมันขมเกินไป” เคนเล่าย้อนถึงตอนที่เขากับเน้ยกวาดซื้อโซดาทุกยี่ห้อที่พอจะหาได้ในตลาดมาทดลอง แน่นอน กับวัตถุดิบอื่นๆ ต้องผ่านขั้นตอนนี้ด้วยเช่นกัน

หลังจากได้โซดาแล้วพวกเขาก็เวิร์กกันต่อว่ารสชาติแฟนซีในเครื่องดื่มแก้วนี้ควรจะเป็นรสแบบไหน คำตอบไปลงเอยที่น้ำผึ้งมะนาวที่เคนชอบกินตอนเด็กๆ ที่พวกเขาลอกเลียนรสขึ้นมาใหม่อย่างใส่ใจทุกขั้นตอน อย่างไซรัปมะนาวก็เลือกใช้ยี่ห้อที่รสชาติไม่เหมือนมะนาวสังเคราะห์มากเกินไป ส่วนน้ำผึ้งก็ต้องเป็นน้ำผึ้งที่รสและกลิ่นไม่กลบส่วนผสมอื่นๆ และไปได้ดีกับรสชาติของกาแฟ

“ใส่โซดา มะนาว หยอดน้ำผึ้ง ตามด้วยเกลือนิดหน่อยให้พอรู้สึกถึงเทกซ์เจอร์ มีอะไรให้เคี้ยวในปากเวลาดื่ม ส่วนช็อตกาแฟที่ราดเข้าไปตอนท้ายจะทำให้ทุกอย่างฟูขึ้นมาคล้ายๆ กับฟองเบียร์” เคนเล่า และนี่คือเหตุผลที่บางครั้งเราเผลอเรียกชื่อเมนูนี้ผิดว่าเป็นโกลเด้นเบียร์

อีกหนึ่งเมนูกาแฟที่เน้ยอยากให้คนชอบกาแฟและช็อกโกแลตเปิดใจลองคือ ‘มอคค่า’ ของที่ร้าน

ที่บอกว่าเปิดใจเป็นเพราะส่วนผสมช็อกโกแลตที่ใช้ในเครื่องดื่มแก้วนี้เป็นช็อกโกแลต single origin จาก Shabar (แบรนด์คราฟต์ช็อกโกแลตสัญชาติไทยที่มาด้วยคอนเซปต์ bean to bar) ให้รสชาติติดเปรี้ยวซึ่งต่างจากรสช็อกโกแลตที่คนส่วนใหญ่คุ้นชิน ส่วนเมล็ดกาแฟที่ใช้ในร้านปกติจะเป็นเมล็ดคั่วกลางที่ออกโทนช็อกโกแลต ไม่เปรี้ยวไปกันใหญ่แน่นอน

ส่วน ‘Cream Soda’ เป็นเครื่องดื่มหวานมันที่เราแอบยกให้เป็นเมนูปลอบประโลมใจยามเหนื่อยล้า

“สำหรับครีมโซดา เราได้ไอเดียมาจากครีมโซดากระป๋องยี่ห้อหนึ่งที่เราชอบซื้อกินจากซูเปอร์มาร์เก็ต มันเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างความมันของครีมกับความซ่า เวลาดื่มจากกระป๋องเราจะได้กลิ่นหอมของวานิลลาเหมือนกินไอศครีมวานิลลา แต่พอเทออกมามันกลับไม่มีความครีม ไม่มีไขมันเลย เราเลยกลับมานั่งคิดว่า ถ้าเราจะต้องทำครีมโซดาแบบนี้เองเราต้องเริ่มต้นจากอะไรบ้าง” เน้ยเล่าก่อนเปิดช่องให้คนข้างๆ ช่วยเสริม

“เราเริ่มดึงส่วนผสมที่ร้านเรามีอยู่แล้วมาผสมเป็นแก้วนี้ อย่างโซดาเราก็ใช้โซดาที่เทสต์มานั่นแหละ เป็นโซดาที่ไม่ซ่ามากเกินไปและรสไม่แหลมมาก ตามหาวานิลลาสกัดจนได้ยี่ห้อที่เราสองคนรู้สึกว่าโอเค ส่วนไซรัปที่ใช้ก็เป็นไซรัปจากน้ำตาลทรายแดงที่เน้ยทำขึ้นมาเอง ท็อปด้วยวิปครีมที่ไม่หวานและเลี่ยนมากเกินไป”

 

“อยากให้ลูกค้ารู้สึกสบายๆ มีอะไรก็บอกเราได้เลย”

นับกันที่เวลา คาเฟ่ของเคนและเน้ยเปิดประตูต้อนรับลูกค้าขาประจำและขาจรมาแล้วหนึ่งปีเต็ม แต่รอยยิ้มที่เคนกับเน้ยส่งให้คนที่เข้ามาที่นี่ยังเหมือนกับวันแรกไม่ผิดเพี้ยน การบริการและความน่ารักของเคนและเน้ยคือเสน่ห์ของที่นี่ที่เราให้คะแนนเต็มสิบ ไม่หักแม้แต่แต้มเดียว

“เคยสงสัยไหมว่าทำไมตัวเองถึงรักงานบริการขนาดนั้น” เรายิงคำถามไปยังคนตรงหน้า

“ไม่เคยสงสัยเลย” เน้ยหัวเราะ “เราแค่รู้สึกว่าถ้าตัวเองมาจากข้างนอกที่อากาศร้อนๆ เราก็คงอยากได้น้ำเย็นๆ สักแก้ว กับลูกค้าก็เหมือนกัน กลายเป็นว่าเรารู้สึกเป็นห่วงเขา โอเคไหม อยากได้อะไรหรือเปล่า แปลกใจเหมือนกันเพราะกับคนที่บ้านเราก็ไม่ได้เป็นขนาดนี้นะ”

“แต่อย่างเราโอเคกับการบริการคนเพราะว่าตอนเด็กๆ ที่บ้านเราทำร้านอาหาร เราเจอคนทุกวัน แม่จะคอยบอกให้เราสวัสดีคนนู้นคนนี้ ถามเขาว่าได้อาหารครบไหม ยกนั่นยกนี่ไปให้ เหมือนกับว่ามันค่อยๆ ซึมเข้ามา การเซอร์วิสคนที่คาเฟ่พาเรากลับไปยังบรรยากาศตอนเป็นเด็ก คือเป็นการบริการในร้านที่คนมานั่งกันชิลล์ๆ อยากให้ลูกค้ารู้สึกสบายๆ มีอะไรก็บอกเราได้เลย” เคนบอก

ไม่ว่าจะปวดหัวอยากได้ยาพาราฯ หรือปวดท้องขอยาแก้ท้องเสีย พวกเขาก็พร้อมจะหยิบยื่นสิ่งท่ีจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดให้ หรือวันไหนที่เจ็บป่วยทางใจ เช่น อกหักจากงานหรือคนรัก (หนึ่งในผู้ใช้บริการนี้คือเราเอง) ทั้งคู่ก็มีแพ็กเกจปลอบใจให้ผู้แบกความทุกข์อย่างเราเสมอ

“ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าที่ตรงนี้จะต้องเป็นที่ที่เยียวยาคนหรือทำให้คนที่หลากหลายรู้สึกสบายใจ เราแค่รู้สึกว่าถ้าเราพอจะแชร์ประสบการณ์หรือบอกอะไรกับเขาเพื่อช่วยเขาได้บ้างเราก็ยินดี ทั้งเรื่องความรัก เรื่องเพื่อน เรื่องงาน เรื่องชีวิต แต่ที่เยอะจริงๆ ก็จะเป็นเรื่องการถ่ายรูปกับดนตรี” เคนว่า

“หลายคนเลือกที่จะมาที่นี่เพราะอยากพัก เขามาเองโดยที่เราไม่ต้องบอกว่า ‘คุณเป็นอะไร คุณมาหาเราได้นะ’ แล้วพอมาที่นี่เขาก็รู้สึกว่าตัวเองได้พักจริงๆ นี่คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกคอมพลีตมาก” เน้ยสรุปพร้อมรอยยิ้ม

 

“ภาพฝันของเราคืออยากเห็นที่นี่มีคอมมิวนิตี้”

เมื่อพูดถึงอีกหนึ่งอาชีพหลักของเคน พื้นที่สตูดิโอถ่ายภาพ (รวมทั้งแกลเลอรีข้างๆ) ไม่เพียงแต่มีไว้ให้เขาใช้ทำงานส่วนตัวเท่านั้น แต่ช่างภาพคนอื่นๆ ที่สนใจและต้องการพื้นที่ทำงานก็สามารถเข้ามาเช่าใช้ได้เหมือนกัน

“ที่นี่เป็น easy access studio เหมาะกับช่างภาพที่อยากจะหยิบของชิ้นไม่ใหญ่มากมาถ่ายหรือถ่ายแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นที่ใช้นางแบบ 2-3 คน เรามีลิมโบ้กับไฟให้ยืม แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ด้วยตัวโครงสร้างเก่าของบ้าน เราไม่สามารถทำให้แสงจากข้างนอกส่องเข้ามาได้เยอะ ก็อาจจะไม่เหมาะกับงานที่ต้องพึ่งพาแสงธรรมชาติเท่าไหร่” เคนอธิบาย

นอกจะใช้ถ่ายภาพแล้ว พวกเขายังใช้งานพื้นที่ได้คุ้มค่ากับการลงทุนสุดๆ อย่างก่อนหน้านี้ก็เคยใช้เป็นพื้นที่จัดเวิร์กช็อปถ่ายภาพแฟชั่นโดยช่างภาพรุ่นน้องของเคน หรือจัดอีเวนต์จิบกาแฟแบบโอมากาเสะที่นำโดยเพื่อนนักคั่วกาแฟของเน้ย

“แพลนที่เราวางไว้แต่แรกคืออยากทำที่นี่ให้เป็นคาเฟ่ที่มีเวิร์กช็อป เป็นพื้นที่ปล่อยของให้กับคนอื่นๆ ด้วย ภาพฝันของเราคืออยากเห็นที่นี่มีคอมมิวนิตี้ ให้คนจากสองฝั่งที่ต่างกันมาคอนเนกต์และทำอะไรด้วยกัน เช่น ตอนนี้เพื่อนๆ เราชอบมาแจมเล่นดนตรีหน้าบ้าน เราอยากให้ฟีลของการรวมคนแบบนี้เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ” เน้ยสรุปภาพฝันของเธอ

เคนและเน้ยเคยบอกเราว่าสิ่งที่พวกเขารู้สึกคอมพลีตสุดๆ หลังจากเปิดร้าน คือการได้ผูกสัมพันธ์กับผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาและส่งต่อเครื่องดื่มอร่อยๆ ให้กับคนเหล่านั้น

กลับกัน ความสุขของลูกค้าประจำอย่างเราคอมพลีตตั้งแต่ได้รู้ว่าทุกครั้งที่แวะเวียนไป ไม่มีครั้งไหนที่จะไม่ได้รับรอยยิ้มจากพวกเขาติดกระเป๋ากลับออกมา ไว้เจอกันนะทุกคน

 

House of Nowhere

address: ซอยปรีดีพนมยงค์ 42 แยก 6 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
hours: จันทร์-ศุกร์ 11:00-17:00 น. / เสาร์-อาทิตย์ 10:00-18:00 น. (ปิดทุกวันพุธ)
facebook: House of Nowhere
instagram: h.o.n.bkk
tel.: 062-1639415, 083-5325635

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย