FLU-FOOL (2020 edition) การแสดงที่บันทึกความป่วยไข้กว่าหนึ่งทศวรรษของการเมืองไทย

Highlights

  • FLU-FOOL (2020 edition) คือการแสดงของกลุ่มละคร B-Floor theatre ในฐานะบทบันทึกต่อบาดแผลของประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 มาจนถึงการถือกำเนิดขึ้นของกลุ่มคณะราษฎรใหม่ในปี 2563
  • ในเดือนกรกฎาคม 2553 กลุ่มละคร B-Floor theatre เคยได้แสดงละครเรื่อง Flu-O-Less-Sense (ไข้ประหลาดระบาดไทย) ที่ต่อมาในกลายมาเป็นเรื่องราวในครึ่งแรกของ FLU-FOOL ในฐานะบทบันทึกต่อความป่วยไข้ของสังคมไทยที่มองกลุ่มคนเสื้อแดงในฐานะเชื้อโรคร้าย
  • ทว่าภายใต้บรรยากาศของการเมืองไทยในปัจจุบันที่แตกต่างไปจากเมื่อสิบปีก่อน ฉากหนึ่งของ Flu-Fool: 2020 Edition กลับสะท้อนให้เห็นความหวังและอารมณ์ร่วมของการต่อสู้เรียกร้องที่ยังคงอยู่ของราษฎร 2563 ซึ่งถือว่าเป็นจิตวิญญาณใหม่ของการเมืองไทย

Flu-O-Less-Sense (2010) = 19 พฤษภาคม 2010

“พฤษภาคม ’53 คุณทำอะไรอยู่ตรงไหนในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย?”

ธีระวัฒน์ มุลวิไล กำลังช็อก และปฏิกิริยาฉับพลันของเขากับสมาชิกกลุ่มละคร B-Floor Theatre คือการแสดงเรื่องใหม่ชื่อ Flu-O-Less-Sense ที่เปิดตัวครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม–หมาด อุ่น กรุ่นควัน เพียงสองเดือนหลังรัฐไทยปฏิบัติการสังหารหมู่กลางเมืองหลวง ซึ่งจบลงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2010

ณ เวทีของโรงละคร Democrazy Theater ซอยสะพานคู่ ใกล้ย่านบ่อนไก่ ถนนพระราม 4 หนึ่งในจุดปะทะรุนแรงที่สุดของกระบวนการสังหารอย่างเป็นระบบครั้งนั้น พวกเขาแสดงในอาคารที่ยังปรากฏรอยกระสุนปืน ข้อความพ่นสีว่าเขตใช้กระสุนจริง ห่างแค่ไม่กี่สิบเมตรจากกองขี้เถ้าของเซเว่นตีนสะพานลอยหน้าปากซอย

จากแรงสะเทือนของเหตุการณ์ จากความรู้สึกช็อก จากเสียงปืนและรอยกระสุน จากกลิ่นควันยางรถและอาคารไหม้ จากเสียงคนเจ็บและร่างคนตายเฉียดร้อยศพ การแสดงพาผู้ชมย้อนกลับไปสำรวจความตึงเครียดทางการเมืองก่อนหน้าวันแตกหักที่ค่อยๆ ขมวดปมอย่างช้าๆ จากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง รัฐประหารปี 2006 สู่การก่อตัวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมใหญ่และถูกปราบปรามเด็ดขาดในปี 2009 และ 2010

แผลสดบนท้องถนนคือความเจ็บปวดของผู้สูญเสียและใครก็ตามที่ได้เป็นประจักษ์พยานความอำมหิต แต่ก็คือเป้าหมายของการเหยียดหยามสมน้ำหน้าสาแก่ใจของคนอีกมากมายในสังคมที่มอบใบอนุญาตฆ่าให้กับรัฐบาลในขณะนั้น จุดแตกหักที่ธีระวัฒน์ประมวลผลจากบรรยากาศกรุงเทพฯ ตอนนั้นและไฮไลต์เป็นประเด็นหลักคือการตีเส้นแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ระหว่างความเป็นชนชั้นกลางที่สำแดงซึ่งการเป็นเจ้าของเมืองหลวง กับป้ายตีตราคนเสื้อแดงว่ารากหญ้าบ้านนอกถูกทักษิณหลอกใช้–เป็นเชื้อร้ายที่ต้องชำระล้าง

“กรุงเทพใจร้าย” บางท่อนจากเพลง อายแสงนีออน จึงสะท้อนความหมายได้เลือดเย็นกว่าแค่ความตรากตรำอย่างเนื้อเรื่องซ้ำซากของชีวิตบ้านนอกเข้ากรุง ทำนองเดียวกับ “เราควรกระหยิ่มถึงความดีงาม” ที่เผยให้เห็นว่า สยามเมืองยิ้ม (อีกหนึ่งเพลงจำ) นั้นเหี้ยมเกรียมได้แค่ไหน เมื่อกลุ่มคนกระหยิ่มลงดาบพิพากษาว่าใครกำลัง “ทำอะไรให้ไทยร้าวราน” และไม่ “เคารพสิทธิของไทย” โดยยึดครองการตีความให้นิยามไว้กับตัวว่านับใครหรืออะไรเป็นไทยบ้าง

 

ยิ้มของเหล่าตัวละครค่อยๆ ฉีกกว้างระหว่างบทเพลง จากยิ้มหวานอ่อนโยนกลายเป็นยิ้มฝืนกลืนกินใบหน้า ราวกับมือล่องหนกำลังฉีกริมฝีปากให้เป็นยิ้มสยามที่มันชอบ ราวกับติดไข้ประหลาด พวกเขาเล่นเกมที่คนถือกติกาเปลี่ยนกฎเองทุกตา จานพลาสติกร่วมร้อยใบถูกโยนข้ามโต๊ะไปมา ถูกนักแสดงวิ่งพล่านหมุนควง ส่งเสียงกระทบพื้นต่อเนื่องคล้ายปืนยิงแล้วเงียบดับ แล้วจึงถูกกวาดล้าง ถูกทำลายหลักฐาน–ถูก ‘คลีน’ ออกจากเวที

ทั้งหมดนี้คือความป่วยไข้ของสังคม หรือกรุงเทพฯ ปีนั้นใน Flu-O-Less-Sense (หรืออีกชื่อว่า ไข้ประหลาดระบาดไทย) ที่ต่อมาทำหน้าที่เป็นเนื้อเรื่องครึ่งแรกของ Flu-Fool

Flu-Fool (2011) = 19 กันยายน 2010

“To fool, or not to fool. That is the flu.”

สำหรับกลุ่มคนที่ยินดีปรีดากับใบอนุญาตฆ่า ความป่วยไข้ของสังคมไทยหรือกรุงเทพฯ คือโรคร้ายจากการบุกโจมตีของ ‘เชื้อแดง’–ลักษณะเดียวกับที่ ธงชัย วินิจจะกูล ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2010 เสียหายใหญ่หลวงต่อภาพลักษณ์ผู้ชุมนุมเสื้อแดงในสายตาชนชั้นกลางไทย ยิ่งกว่าข้อหาล้มเจ้าที่รัฐบาลกุขึ้นเป็นแผนผังเสียอีก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาร่วมกับปฏิกิริยาทำนองเดียวกันต่อการเทเลือดประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 16 มีนาคม

คำโปรยภาษาอังกฤษข้างตนบนโปสเตอร์ของ Flu-Fool จึงไม่ใช่เพียงการชี้ให้เห็นประเด็นข้อถกเถียงที่เป็นใจความหลักของการแสดง หากยังโต้แย้งนิยามเหยียบย่ำของฝ่ายที่เชียร์ให้ฆ่าเชื้อด้วยยาแรง และให้ความหมายใหม่แก่เชื้อโรคร้ายใน “ร่างกายทางการเมืองไทย” (Thai political body)

ตัวละครใน Flu ยังคงวิ่งพล่าน ยิ้มสยามหน้าเบี้ยว เล่นเกมที่กติกาไม่เคลียร์ และพูดจาไม่เป็นศัพท์ ประตูเข้า-ออกด้านซ้าย-ขวากับพื้นเวทีของหอประชุมสถาบันปรีดี พนมยงค์ กลายสภาพเป็นพื้นที่ฉายภาพเหตุการณ์การเมืองไทยร่วมสมัย ซึ่งถาโถมโจมตีการรับรู้รวดเร็วรุนแรง แต่ก็ต่อสู้แย่งชิงความจริงกันอย่างอลหม่าน จนสุดท้ายจานพลาสติกก็ต้องเป็นทั้งเสียงปืนและเหยื่อกระสุนที่ถูกกวาดล้าง หลังพักครึ่งการแสดง พวกเขาจึงเผยต้นสายปลายเหตุ–เชื้อร้ายกับความป่วยไข้ไม่ได้แพร่ระบาดรุกรานมาจากภายนอก แต่ฝังลึกรอวันกำเริบอยู่ในเนื้อของความเป็นไทย

Fool (หรือชื่อเต็ม Fool Alright) เปิดเรื่องด้วย ‘ผีราษฎร’ เหล่าชาย-หญิงชื่อมงคลเคราะห์ร้าย ผู้ถูกเลือกไปฝังทั้งเป็นที่ก้นหลุมใต้เสาหลักเมือง เป็นเครื่องบูชายัญเสริมดวงชะตาพระมหากษัตริย์ ในนามของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อปกปักรักษาบ้านเมือง แล้วเลื่อนไหลเป็นภาพแทนของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยยุคแรกเริ่ม เมื่อตัวละครร่วมแรงเขียนบางสิ่งบนม้วนกระดาษยาวเหยียด ลำเลียงข้อความและอุดมการณ์ผ่านวงจรที่ออกแบบไว้ซับซ้อนราวค่ายกล ก่อนเข้าสู่กระบวนการย่อยสลายผ่านเครื่องทำลายเอกสารซึ่งห้อยลงมาจากเพดานสูง–ตัวละครผู้ทรงอำนาจเผยตนบนรถเข็นวีลแชร์ ปลาบปลื้มยินดีกับเศษซาก และอักษรที่ถูกทำลายคือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

บรรยากาศทางสองแพร่งอันขมุกขมัวของการเมืองไทยช่วงต้นทศวรรษ 2010 อาจอธิบายได้ด้วยสำนวน “สิ่งเก่ายังไม่ตาย สิ่งใหม่ยังไม่เกิด” (ธีระวัฒน์ใช้คำนี้ในบทสัมภาษณ์) ซึ่งก่อให้เกิดสภาวะแรงเสียดทานรุนแรง เมื่อแรงระเบิดระลอกสำคัญของอาการตาสว่างหรือความกล้าเกิดขึ้นภายใต้การกดทับด้วยอำนาจและความกลัว อันเป็นผลจากฉันทามติทางการเมืองที่มีอิทธิพลของชุดความเชื่อมวลรวมเป็นสารตั้งต้น บางคนอาจมองทะลุตั้งแต่ สนธิ ลิ้มทองกุล ปราศรัยอวดอ้างผ้าพันคอสีฟ้า บ้างเริ่มเชื่อมโยงอะไรได้หลังรัฐประหารปี 2006 เห็นสิ่งที่ไม่คิดจะได้เห็นในงานศพปี 2008 หรือพรั่นพรึงกับการกวาดล้างคนเสื้อแดงปี 2010–แต่ที่สะท้อนบริบทของแรงเสียดทานทางการเมืองที่ Flu-Fool ต้องการเล่าถึงได้ดีที่สุด อาจคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและดับไปราวแสงวาบของพลุไฟ ณ แยกราชประสงค์ ในวันที่ 19 กันยายน 2010 

ครบรอบ 4 เดือนการสังหารหมู่ ครบรอบ 4 ปีรัฐประหารล้มทักษิณ ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันหลายพันคน (หรือหลักหมื่น) บริเวณใกล้เคียงมีป้ายโครงการที่ให้ศิลปินหลายสิบชีวิตสร้างผลงานสวยงามเพื่อให้กำลังใจกรุงเทพฯ และอาคารห้างสรรพสินค้าที่ถูกไฟไหม้ สิ่งย้อนแย้งนี้ถูกความอัดอั้นเดือดดาล ‘บอมบ์’ ไม่เหลือซาก ด้วยกราฟฟิตีที่มุ่งเป้าหมายใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ตรงไปตรงมา และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวาทศิลป์อย่างปราศรัยเรื่อง ‘เสียงจากดินถึงฟ้า’ ของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ–ทุกอย่างถูกลบแทบทันที และนับถึงปัจจุบัน เหตุการณ์นี้อาจถูกบันทึกอย่างเป็นทางการไว้เพียงครั้งเดียว ในบทความของนักวิชาการไทยศึกษาชาวเยอรมัน Serhat Ünaldi ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าความศักดิ์สิทธิ์เริ่มสิ้นแสงแล้ว 

ข้อความตะโกนท้าทายความศักดิ์สิทธิ์วันนั้น, ความแพร่หลายของการใช้หมุดคณะราษฎร (ต้นฉบับ) กับบริบทประวัติศาสตร์ของการสังหารหมู่ 6 ตุลาฯ อธิบายการเมืองไทยร่วมสมัย, 7 ข้อเสนอของ นิติราษฎร์, 8 ข้อเสนอของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, เวทีอภิปรายวิชาการเรื่องสถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยในวันที่ 10 ธันวาคม 2010 และการเคลื่อนไหวของ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) ที่มีประชาชนเข้าชื่อเกือบ 27,000 คน ต่างเกิดขึ้นโดยสัมพันธ์กับห้วงเวลาที่กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง สร้างบรรยากาศความกลัวที่เกินตัวบทไปสู่การล่าแม่มด ประชาทัณฑ์ หรือลอบสังหาร–กระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกัน ยังตัดสินใจ ‘จำหน่าย’ ร่างกฎหมายฯ ฉบับแก้ไขของ ครก. 112 โดยไม่มีการพิจารณาถกเถียงหรือเปิดโอกาสให้ชี้แจงใดๆ ต่อรัฐสภาในปี 2012

Flu-Fool (2011) หยิบยืมตำนานกล่องแพนโดร่ามาเล่าในฉากหนึ่ง ด้วยน้ำเสียงที่ยั่วเย้าให้ผู้ชมลองตีความแทนค่า ในทำนองเดียวกับโรคร้ายที่สนทนากับข้อสังเกตเรื่องเชื้อแดงของธงชัย พวกเขาต่อยอดกล่องแพนโดร่า (ซึ่งถูกใช้แทนภาพการเมืองไทยบ่อยพอๆ กับ 6 ตุลาฯ และหมุดคณะราษฎร) จากการเปรียบเทียบที่ ณัฐพล ใจจริง เสนอไว้ในการอภิปราย 10 ธันวาคม 2010 และความยอกย้อนของการแทนค่ามันในเส้นเรื่องการเมืองไทยหลังปฏิวัติ 2475 ว่าแท้จริงแล้วอะไรกันแน่ที่อยู่ในกล่อง

ป่วยไข้ด้วยโรคเขลาถึงที่สุดของสังคมไทยในช่วงเวลานั้น ไม่ใช่ความพยายามใช้กำลังปิดฝากล่องหรือยัดของที่หลุดออกมากลับเข้าไป แต่เขลาถึงขั้นหลอกตัวเองแล้วบีบให้คนอื่นเชื่อตามว่ากล่องแพนโดร่ายังไม่ถูกเปิดออก บ้างหนักหนาถึงขั้นปฏิเสธว่าไม่มีกล่องแพนโดร่าอยู่จริง ต่อให้เห็นอยู่ตำตา

Flu-Fool: 2020 Edition (2020) = 19 พฤศจิกายน 2020

“…แล้วพฤศจิกายน ’63 ล่ะ? คุณทำอะไรอยู่ตรงไหนในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย?”

เมื่อได้ลองถามความเห็นกลุ่มผู้ชมที่ได้ดูทั้ง Flu-Fool (2011) และ Flu-Fool: 2020 Edition จุดร่วมข้อหนึ่งที่แทบทุกคน (รวมผู้เขียน) ตอบใกล้เคียงกันก็คือ เราไม่ได้รู้สึกว่าการแสดง ‘อันตราย’ หรือ ‘รุนแรง’ เหมือนคราวก่อน และเหตุผลข้อสำคัญที่ยากจะปฏิเสธก็คือบรรยากาศการเมืองบนท้องถนนที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

กราฟฟิตีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2010 เป็นเหมือนรอยแตกที่ถูกเมินเฉยมองข้าม จนต้องไปตามหลักฐานว่าเคยเกิดขึ้นจริงจากบทความลับแลของนักวิชาการต่างชาติ แต่เมื่อภาพของความโกรธแค้นวนกลับมาฉายซ้ำในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2020 มันคือความรู้สึกร่วมของมวลชนที่เพิ่งบอบช้ำจากการสลายชุมนุมหน้ารัฐสภาด้วยน้ำผสมสารเคมีและแก๊สน้ำตา พร้อมข้อสงสัยว่ารัฐบาลจงใจสร้างสถานการณ์ปะทะเพื่อให้เกิดความสูญเสีย เมื่อผู้ชุมนุมบางส่วนมีแผลจากกระสุนจริง–นอกจากการเผชิญหน้ากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อประท้วงความรุนแรง แทบทุกบริเวณของพื้นถนน กำแพงวัด เสารถไฟฟ้า ถูกเขียนหรือพ่นทับด้วยข้อความที่เป็นทั้งอารมณ์ ความโกรธแค้น และคำถามทางการเมืองที่มีจุดร่วมกับเมื่อสิบปีก่อน

ภาพตัวละครอายแสงนีออน ฉีกยิ้มสยาม เสียงจานกระทบพื้นแล้วถูกกวาดทิ้ง ผีราษฎรใต้เสาหลักเมือง และอักษรที่ถูกย่อยสลายกลับมาวนซ้ำ แต่ความหมายของทุกฉากฉายชัดยิ่งขึ้นด้วยน้ำเสียงทางการเมืองที่เปลี่ยนไปของสังคมไทย ไม่นับว่าบางองค์ประกอบที่ผ่านการอัพเดตก็ยิ่งชัดเจนแหลมคม

จากวันที่บทวิจารณ์ละครเวทีบางชิ้นเคยเขียนถึง Flu-Fool โดยไม่เอ่ยถึงประเด็นการเมืองเลยแม้แต่คำเดียว (ทั้งที่ในการแสดงก็เห็นหน้า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ, สรรเสริญ แก้วกำเนิด) ตอนนี้พวกเขาไม่ต้องยืมกล่องแพนโดร่ามาใช้เป็นนิทานเปรียบเทียบอีกแล้ว เมื่อโลกข้างนอกตอนนี้รับรู้การมีอยู่ของกล่องแพนโดร่า แจ่มชัดในสำนึกว่าอะไรเคยอยู่ในกล่องที่เปิดทิ้งไว้มาตั้งแต่ชาติปางก่อน ความเขลาของสังคมที่ต้องการเพิกเฉยเหมือนทศวรรษที่แล้วก็ไม่อาจบรรลุผลได้ง่ายๆ เมื่อของในกล่องกลายเป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์กระแสหลัก กลายเป็นหัวข้อดีเบตในรายการทีวีช่องใหญ่ และสัญลักษณ์ที่เคยดูคุกคามอันตรายก็แทบจะกลายเป็นอุปกรณ์ตลกประกอบฉากหรือมีมประจำวัน

พวกเขาไม่ต้องลดทอนเนื้อความของเอกสารที่ถูกย่อยสลายให้เหลือเพียงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ครั้งนี้พวกเขาพูดได้เต็มปากว่าที่ไหลผ่านวงจรเข้าเครื่องทำลายเอกสารคืออุดมการณ์ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 (ซึ่งเมื่อถูกนำเสนอผ่านสื่อแบบลงลึกถึงถ้อยคำก็มักจะ ‘เป็นประเด็น’ เสมอมา) รากฐานของรัฐธรรมนูญซึ่งเจตนาให้เป็นประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายอย่างแท้จริง ยิ่งเต็มปากเมื่อเศษซากของประกาศฯ ที่กระจัดกระจายกองอยู่บนพื้น ถูกรองรับไว้ด้วยพานรัฐธรรมนูญที่เทิดไว้เหนือเกล้า และภาพการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของโฆษณาชวนเชื่อจากสองขั้วมหาอำนาจในยุคสงครามเย็น

นอกจากหน้าที่เดิมคือการบันทึกอุณหภูมิของการเมืองไทยช่วงต้นทศวรรษก่อน ในฐานะผู้ประสบภัยโดยตรง (ละครของ B-Floor Theatre สองเรื่องถูกรัฐบาลเผด็จการทหารเพ่งเล็ง หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2014) พวกเขาเพิ่มองค์ประกอบเพื่อสื่อสารถึงห้วงเวลาที่ความกลัวทำให้สังคมแทบจะปิดปากสนิท เมื่อคนกล้าที่เคยส่งเสียงในช่วงไม่กี่ปีก่อนรัฐประหาร หลายคนต้องคดี ถูกจองจำ กลายเป็นผู้ลี้ภัย หรือถูกบังคับสูญหาย ทั้งในช่วงเผด็จการทหารยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จและช่วงที่สังคมจมอยู่กับความโศกศัลย์หลังผลัดแผ่นดิน การแสดงบันทึกถึงพวกเขาไว้ผ่านเสียงกีตาร์ไฟฟ้าทำนองเพลง ไม่รักนะ ระวังติดคุก และใบหน้าของผู้ที่ถูกการเมืองไทยคร่าชีวิตหรือการดำรงอยู่ไป เช่น เตียง ศิริขันธ์ มาถึง พอละจี รักจงเจริญ, สุรชัย แซ่ด่าน และ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ความหวังของการเรียกร้องอาจเคยดูริบหรี่ไร้วี่แวว เมื่อนักศึกษา 14 ชีวิตที่ติดคุกเพราะต้านรัฐประหารไม่อาจกระตุกผู้คนจากภาวะนิ่งเฉยได้ดังคาด แต่ตอนนี้นักศึกษาที่เคยเรียกชุมนุมแล้วมีคนเข้าร่วมแค่หยิบมือ (แถมครึ่งหนึ่งของหยิบมือยังแสดงตนอย่างผู้สังเกตการณ์มากกว่าเข้าร่วม) กลายเป็นหนึ่งในทีมแกนนำของการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากวันที่สื่อออนไลน์ไม่กล้าถ่ายทอดสดบางปราศรัยเพราะอันตราย จนถึงวันที่เพลงเก่าอายุ 7 ปีของวงดนตรีที่ต้องลี้ภัยกลายเป็นเพลงติดปากประจำม็อบ และการหายตัวไปของแอ็กทิวิสต์กระตุ้นให้คนรู้สึกร่วมจนออกมาเรียกร้องบนท้องถนนได้จริงๆ

ฉากสุดท้ายของ Flu-Fool: 2020 Edition จึงเป็นภาพของความหวังนั้น ความหวังและอารมณ์ร่วมของการต่อสู้เรียกร้องที่ยังคงอยู่ของราษฎร 2563 ท่ามกลางการใช้อำนาจกดดันนักเรียนผ่านคณาจารย์อนุรักษนิยม ข่มขู่นักเคลื่อนไหวผ่านครอบครัวและเครือข่ายการปกครองส่วนท้องถิ่น ออกหมายเรียกตั้งข้อหาเยาวชนด้วยคดีความมั่นคงอัตราโทษสูง และการกลับมาอย่างเต็มตัวแต่เปลี่ยนรูปแบบของกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ – กรมหลวงเกียกกาย (เป็ดยาง) เสียงประสานขอหมวกขอร่ม น้องไฟซ้อน (ในเรื่องไม่บอกชื่อแต่ขอตั้งให้เอง) ชวนคนดูลุกขึ้นมาแจว ล้วนคือส่วนหนึ่งของร่างกายและจิตวิญญาณใหม่ของการเมืองไทย

ในวันที่สัญลักษณ์ของตัวละครทรงอำนาจถูกพลิกคว่ำไว้กลางเวที

AUTHOR