‘สนใจเรื่องเซ็กซ์ไม่ใช่คนหื่น’ ถ้าไม่ใช่เพื่อความเสียว ทำไมเราควรคุยกันเรื่องเซ็กซ์ เพจ Thaiconsent มีคำตอบ

Thaiconsent คือชื่อเพจน้องใหม่ที่ดึงดูดความสนใจใครหลายคนด้วยการเล่าถึงประสบการณ์ ‘เซ็กซ์’ ของบุคคลนิรนามประกอบกับรูปวาดสวยๆ แต่ยอดแชร์ที่สูงหลักหลายพันไม่ได้เกิดจากความสนใจใคร่รู้เรื่องเอ็กซ์ๆ เท่านั้น เนื้อหาที่ใส่ใจความหมายและความรู้สึกในกิจกรรมทางเพศอย่างที่ไม่มีสื่อไหนทำมาก่อนต่างหาก คือแรงกระตุ้นให้นิ้วอยากคลิกแชร์

เพจสอดแทรกแนวคิดเรื่อง consent หรือความยินยอมพร้อมใจในบริบทกิจกรรมทางเพศ การใส่ใจความรู้สึกของตัวเองและอีกฝ่าย และสื่อสารว่าเซ็กซ์เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรทำความเข้าใจร่วมกัน ไม่ว่าคุณจะเคยผ่านเซ็กซ์ในรูปแบบไหนมา

คนเบื้องหลังเพจที่น่าสนใจนี้คือหญิงสาวอายุเพียง 24 ปี ชื่อ นานา-วิภาพรรณ วงษ์สว่าง นักสื่อสารสังคมในกลุ่ม Young Filmmakers of Thailand ส่วนเหตุผลว่าทำไมเธอถึงลุกขึ้นมาทำ เชิญอ่านคำตอบเข้มข้นแล้วจะรู้ว่าเรื่องบนเตียง-หรือบนเวทีอื่นก็ตาม-ยังมีอะไรสำคัญอีกมากซ่อนอยู่

จากการตั้งคำถาม สู่การ take action เรื่องเซ็กซ์

มีจุดเปลี่ยน 3 ครั้งในชีวิตนานาที่นำมาสู่การเปิดเพจในที่สุด

1. ประสบการณ์เพศสัมพันธ์ครั้งแรกที่แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ แล้วพบความจริงว่า แม้จะเป็นคนสนใจเซ็กซ์และรู้ว่าต้องใส่ถุงยางแต่สุดท้ายหลายคนก็ไม่ได้ใช้ เพราะยังมีเรื่องอีกเยอะมากที่ไม่รู้หน้างาน

2. ระหว่างไปแลกเปลี่ยนที่ฝรั่งเศส การ์ตูนว่าด้วยชีวิตประจำวันเรื่องเพศสำหรับผู้หญิงบนชั้นหนังสือของ host sister เปิดโลกให้นานารู้ว่า นอกจากการ์ตูนโป๊แบบเอ็กซ์ๆ ยังมีการสื่อสารเรื่องนี้ในรูปแบบอื่นๆ อีก เซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องของคนหื่น แต่เป็นไลฟ์สไตล์คนทั่วไป

3. คนใกล้ตัวถูกล่วงละเมิดทางเพศ ครั้งนี้เองที่เธอเริ่มลงมือทำอะไรบางอย่าง

“การคุยกับเขาทำให้รู้ว่าคนรอบตัวมักใช้ common sense จัดการปัญหาเรื่องนี้ แต่มันไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่ คนใช้เหตุผลมาตัดสิน ใครถูกใครผิด กลายเป็นเพื่อนเราผิดที่ไว้ใจให้คนนี้เข้ามาในห้อง เราเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว
ต้องมีคน defend เรื่องนี้” และการค้นคว้าครั้งนั้นทำให้เธอได้รู้จักแนวคิด consent ซึ่งมีการรณรงค์อยู่บ้างแล้วในอเมริกา

“เขารณรงค์ในเชิงว่ามันไม่ใช่ความยินยอมถ้าสติคุณไม่เต็มร้อย หรือการที่คุณไม่ปฏิเสธ คุณรู้ได้ยังไงว่าคุณพร้อมปฏิเสธ คุณอาจไม่กล้าพูดก็ได้ อย่างเพื่อนเราก็รู้ว่าคนนี้พกมีด มีสนับมือ ทำให้ไม่กล้าปฏิเสธ นิยามการละเมิดทางเพศในบ้านเรามันเป็นขาวดำเกินไป พอเจอคอนเซปต์นี้ก็เริ่มคิดว่าเราก็เคยมีเซ็กซ์ที่ไม่ consent มาก่อน มันยังมีเรื่องเพศอีกเยอะเลยที่เราไม่รู้มาก่อนว่าต้องรู้”

หลังพาเพื่อนไปแจ้งความ เธอพบว่าการดำเนินการไม่ได้ยากอย่างที่คิด เมื่อมีคนรอบตัวหลายคนมาเล่าเรื่องลักษณะนี้ให้ฟังจึงเดาได้ว่าน่าจะมีคนเจอปัญหานี้อีกมาก แต่ปัญหาคือระหว่างทางที่คนรอบตัวต้องเข้าใจและช่วยเหลือ นานาจึงเปิดเว็บ thaiconsent.org รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิด consent มาเสนอ แต่ด้วยท่าทีที่วิชาการเกินไปและการทำด้วยความโกรธ thaiconsent เวอร์ชันปี 2015 จึงไม่ประสบความสำเร็จ

“2 ปีที่ผ่านมาเพื่อนก็มาถามว่าทำต่อไหม พอเราทำงานแล้ววันหนึ่งค้นคอม เจออินโฟกราฟิกที่ทำไว้ รู้สึกว่าแค่เปลี่ยนคำก็ใช้ได้ พอเอามาลงในเฟซบุ๊กก็มีคนแชร์เยอะ ลองเล่นอะไรต่อดีกว่า”

เปิดพื้นที่ให้คนเปิดอกเรื่องเซ็กซ์

นานารู้ว่ามีองค์กรด้านเพศที่ทำงานช่วยเหลือได้ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับวัยรุ่นที่เจอปัญหา ความรู้สึกและการตัดสินใจจะเข้ารับการช่วยเหลือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ท่าทีเพจจึงต้องเชียร์ให้คนมั่นใจที่จะรับการช่วยเหลือมากขึ้น ประกอบกับอยากให้เป็นเพจที่ไม่ได้รณรงค์ตลอดเวลา มีเนื้อหาอ่านเพลินๆ ได้ในชีวิตประจำวัน เธอจึงลองเปิดให้คนส่งประสบการณ์ทางเพศส่วนตัวเข้ามาด้วยเงื่อนไขไม่ต้องเปิดเผยชื่อ พอเพจเริ่มทำรูปประกอบปั๊บก็มีคนส่งเข้ามากว่า 200 เรื่อง!

“เราว่ามันเป็นเรื่องที่คนอยากเล่า แลกเปลี่ยน หรือระบาย อยู่แล้ว ที่ผ่านมามันเก็บความลับไว้ตลอดเวลาเพราะพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย กลัวคนมองไม่ดี กลัวเรื่องใหญ่ เขาอาจรู้สึกว่าตรงนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะส่งเข้ามา พอคิดว่าเรื่องที่ส่งเข้ามาอาจจะมีประโยชน์มันก็ทำให้เขาอยากเล่ามากขึ้น และพอได้เล่ามันก็อาจทำให้เราได้ปลดปล่อยตัวเองไปก้าวนึง กลัวน้อยลงไปเรื่องนึง

“ส่วนมากเวลาคนมาถามเรื่องเซ็กซ์ ที่เจอบ่อยคือคำถามว่าตกลงใครผิดใครถูก แบบนี้ดีหรือไม่ดี มันต้องก้าวไปอีกขั้นว่าเราจะออกแบบทางออกยังไงให้คนแฮปปี้ มันต้องไม่ใช่การตัดสิน แต่มันคือการมีเซ็กซ์แบบมีทางเลือก ที่ผ่านมาเหมือนพูดกันน้อย ความรู้เราเลยน้อย พอมีปัญหาก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาแก้

“ส่วนมากที่คนส่งเข้ามาจะเป็นแนวแฟนไม่เข้าใจ ไม่เล้าโลม ทำแล้วเจ็บ ไม่กล้าบอกเขา เล่าให้เพื่อนฟังก็ไม่ได้เพราะเดี๋ยวเพื่อนเมาท์ว่าแฟนไม่ดี ไม่มีทางเลือกนอกจากเก็บไว้ข้างใน เก็บมา 7 ปีเริ่มรู้สึกทนไม่ไหว จะต้องเลิกกัน ตอนเขาอดกลั้นมันคือการบั่นทอนอำนาจในการออกแบบชีวิตตัวเองไปด้วย ดังนั้นเซ็กซ์ที่มีทางเลือกคือสิ่งที่ทำให้เรากล้าตัดสินใจ กล้าเป็น active ในชีวิตตัวเอง”

ไม่ใช่แค่อ่านเอาเสียว แต่มีไว้เป็นกรณีศึกษา

เรื่องในเพจมีทั้งเซ็กซ์ที่ fair และ unfair วิธีการคัดเลือกมาลงคือเรื่องนั้นทำให้คนได้เรียนรู้อะไรหรือเปล่า เพจมีเนื้อหาหลากหลายและครอบคลุมพอหรือยัง นานาไม่เซ็นเซอร์เนื้อหาแต่จะดูแลข้อความที่เสี่ยงจะตอกย้ำค่านิยมทางเพศบางอย่างเท่านั้น

“พอมีตัวเปรียบเทียบหรือตัวเลือก คนจะเริ่มตั้งคำถามกับประสบการณ์ของเขา บางคนมีเซ็กซ์มาตลอดแล้วไม่เคยทบทวนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันดีกับเราไหม เมื่อเห็นสิ่งที่เป็นมาตรฐานที่ดีก็จะได้คิด คนที่มีเซ็กซ์ที่ดีมาตลอดก็จะเริ่มตั้งคำถามว่าคนที่มีประสบการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นมันเป็นยังไง มันปรับให้เรามองในมุมที่ละเอียดขึ้นว่ามีคนที่รู้สึก insecure อยู่ ทุกคนมีเรื่องของตัวเอง เราหวังให้คนมองละเอียดขึ้นและไม่ตัดสินกัน

“โพสต์ที่มีคนแท็กเพื่อนมาเรื่อยๆ คือโพสต์ที่เล่าเรื่องแฟนสองคน คนแรกเอาอย่างเดียว เจ็บไม่สน คนที่สองใส่ใจกว่า ปัญหานี้มีเยอะกว่าที่เราคิด บางคนไม่เก็ตว่าผู้หญิงก็ควรจะมีความสุขทางเพศด้วย ถูกสอนมาว่าเป็นผู้หญิงยังไงก็ต้องมีความทุกข์เรื่องนี้ ไม่รู้ว่ามันแฟร์ได้ กลายเป็นว่าคนมาเก็ตว่าจริงๆ แล้วมาตรฐานมันสูงได้ แต่ถ้าคนไม่ศึกษาก็จะไม่รู้ว่ามาตรฐานในโลกมันสูงกว่าที่เขาเจอในสังคมเขา

“มันคือการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนกล้าตัดสินใจเรื่องนี้มากขึ้น เราจึงต้องมีเนื้อหาเป็นตัวอย่างเยอะๆ เรื่องละเมิดเป็นเรื่องละเอียดมาก แต่พื้นฐานความเข้าใจในสังคมมีน้อย เรายังเถียงอยู่เลยว่า one-night stand หรือเสียตัวก่อนแต่งนี่ดีหรือไม่ดี เราต้องพูดออกไปก่อนว่าเรื่องเซ็กซ์มันมีหลากหลายได้นะ อันนี้ดีกับบางคน อันนี้ไม่ดีกับบางคน พอคนเริ่มเข้าใจว่าเซ็กซ์ซับซ้อนและละเอียด เราก็จะนำไปสู่เรื่องละเมิดได้”

สื่อเรื่องเซ็กซ์ที่ไม่ละเลยความหมาย

“เราตกใจฟีดแบ็กนิดนึงแต่ก็ดีที่คนสนใจเยอะ สื่อพูดเรื่องเพศในไทยมันยังจำกัดมาก หนังสือผู้หญิงพอเป็นคอลัมน์เซ็กซ์ก็เอาแต่พูดเรื่องทำยังไงให้ผู้ชายพอใจ ไม่ค่อยครอบคลุมเรื่องความรู้สึกหรือความหมาย การศึกษาเรื่องเพศมันเลยต้องเรียนรู้ 2 ครั้งในชีวิต ครั้งแรกคือการเตรียมตัวมีเพศสัมพันธ์ การป้องกัน และการทำให้ครั้งแรกมันโอเค อีกครั้งที่ต้องเรียนรู้จะเป็นเรื่อง after sex ละว่าคุณจะมีเซ็กซ์ยังไงให้เคารพคู่นอนของคุณ ให้ความสัมพันธ์ healthy ให้รู้สึกดีกับตัวเอง ซึ่งสังคมไทยไม่ได้สอนเรื่องนี้เท่าไหร่ เราจบอยู่ที่การป้องกันเฉยๆ พอเรามีเรื่องความหมาย คนก็ตามหาอยู่แล้ว

“จุดยืนเพจคืออยากให้เป็นฐานข้อมูลเรื่องเพศที่มีเนื้อเรื่องหลายแบบ ตอนจบหลายแบบ ให้เราเรียนรู้ว่ามันน่าจะมีแบบที่เหมาะกับเรา แล้วก็ aware ว่าแบบไหนเสี่ยงจะไปทำร้ายจิตใจคนอื่น ทั้งหมดทั้งมวลคือเพื่อให้ทุกคนมีอิสระที่จะค้นหาความหมายให้กับเซ็กซ์ของตัวเอง และให้รู้ว่าทุกคนมีอิสระที่จะหยุดหรือปฏิเสธเวลาที่กิจกรรมนั้นไม่แฟร์กับเขา”

ภาพประกอบมาตรฐานเข้ม

“illustration สำคัญมากกับเรื่องเพราะมันอาจทำให้สังคมเปิดรับเรื่องเพศมากขึ้น กฎข้อแรกคือ ต้องวาดเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะเราอยากให้เกียรติเจ้าของเรื่องมากๆ ต้องไม่คิดแค่ชั้นเดียว ไม่อย่างนั้นก็จะมีแต่รูปคนนอนจูบกัน กฎข้อสองคือ ภาพต้องตระหนักถึงประเด็นสังคม เช่นเรื่อง body stereotypes ตอนยังไม่ได้บรีฟทุกคนจะส่งรูปวาดที่ผู้หญิงตัวเล็ก ผมยาว มีนม ตอนแรกๆ ไม่เป็นไร แต่ถ้าทำไปสักหนึ่งเดือนจะมีแต่แบบนี้ไม่ได้แล้ว มันต้องเป็นเรื่องของทุกคน

“เราสนใจเรื่องนี้มากเพราะมันเหมือนเรื่อง ‘เขียนหญิง’ ผู้หญิงเป็นยังไงในประวัติศาสตร์สื่อ มันก็ถูกเขียนและถ่ายทอดโดยผู้ชาย แล้วผู้หญิงที่ทำสื่อก็จะไม่ทันตระหนักว่าเราอยากดูเป็นยังไง เราจะผลิตซ้ำสิ่งที่เราเสพมาอีกทีหนึ่ง เช่น เราอยากวาดผู้หญิงสวย งดงาม ทั้งที่ความจริงเราก็ยังมีขนหน้าแข้ง”

ตัวอย่างผลงานของ มงคล ศรีธนาวิโรจน์

“รูปนี้ผู้ชายวาด เป็นเรื่องคู่รักผู้หญิงที่คนนึงเป็นคนอ้วน ไม่มั่นใจรูปร่างตัวเองเลยเป็นคนทำตลอดเพราะไม่อยากถอดเสื้อ จนมาเจอผู้หญิงอีกคนที่เข้าใจกันก็เลยได้พบความสุขเป็นครั้งแรก ดราฟต์แรกเขาตีความว่าทั้งสองคือวีนัสของกันและกัน ดราฟต์สองเราให้เล่นกาชา จับฉลากให้เพื่อนอีกคน reproduce งานให้สมบูรณ์ขึ้น พอได้ผู้หญิงมาทำ เขาก็อยากให้มันดูมีความหวานในเรื่อง ระหว่างทางเราให้เขาไปดูงานศิลปินเยอรมันที่วาดผู้หญิงหลากหลายมากแต่ไม่ได้บรีฟอะไร จนดราฟต์สุดท้ายเขาปรับเป็นช็อตที่เล่าว่าเจ้าของเรื่องไม่มั่นใจในรูปร่างแต่เขาก็มีความสุขทางเพศได้ เราชอบมากเพราะคุณจะเจอซีนเซลลูไลต์แบบนี้แค่ในโฆษณาลดน้ำหนัก จะไม่เห็นมันในฉากโรแมนติก”

ตัวอย่างผลงานของ นิชาภา ปิยะวาทินทร์

“อันนี้เป็นการตีความในภาพ ภาพแรกเน้นถุงยาง แต่เพื่อนอีกคนมองว่าความสนใจอยู่ที่คนสองคนนั้นรึเปล่า เขาเลยเปลี่ยนให้คนเป็นตัวหลัก เรารู้สึกว่าในกระบวนการวาดมีการเรียนรู้เกิดขึ้น มันคือเรื่องความเข้าใจและมุมมองที่เราเลือกจะถ่ายทอดเรื่องเพศออกมา”

บันไดขั้นแรกของการออกแบบประสบการณ์ด้านเพศ

นานาจะไม่หยุดที่แค่ทำเพจ เธอยังอยากสร้างระบบข้อมูล ถอดรหัส นำเรื่องเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาการละเมิดทางเพศ เช่น เป็น case study ในบทความหรือหนังสือ จัดทำเป็นสื่อทางเลือกสำหรับครูสุขศึกษา
(ที่เธอพบว่าครูหัวก้าวหน้ามีเยอะมาก) ให้สอนได้ดีขึ้น สร้างระบบที่ช่วยให้วัยรุ่นได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ปูสภาพแวดล้อมให้คนแจ้งความหรือเข้าหามูลนิธิต่างๆ ง่ายขึ้น

“เราอาจจะทำแชตบอตที่คอยถามคำถามให้เราซ้อมตอบ บอกขั้นตอนว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างเพราะคนทั่วไปไม่รู้จริงๆ อย่างน้อยถ้าแจ้งความ คนที่เป็นผู้ถูกกระทำก็จะรู้สึกว่ามีอำนาจในตัวเอง มันสำคัญกับเขา

เรื่องที่สำคัญมากคือความเป็นไทยไม่ได้มีปัญหาในการพูดเรื่องนี้ สิ่งที่เป็นปัญหาคือความคิดว่าความเป็นไทยไม่ให้พูด มันเป็นความกลัวของเราเองรึเปล่าที่ไม่กล้าทำอะไร ถ้าลองทำอาจจะเวิร์กก็ได้ ใครจะไปรู้”

สามัคคีเพศ

“พอทำโปรเจกต์นี้ เรามีความช่วยเหลือเข้ามาเยอะ คนที่ช่วยวาดก็ชวนไป contribute เป็นอีกโปรเจกต์นึงเลย เช่น พี่จัง-สุพิชชา เสนารักษ์ (เพจจัง) สนใจเรื่องอวัยวะเพศ อยากให้รู้ว่าจิ๋มกับจู๋มีหน้าตาหลากหลาย ไม่ได้มีแต่ที่เห็นในการ์ตูน ก็อาจจะทำเป็นเกมให้เลือกว่าจิ๋มของคุณหน้าตายังไง สียังไง แล้วอาจจะทำเป็นแกลเลอรี่โชว์ว่าหน้าตามันหลากหลายนะ จิ๋มดำไม่ใช่เรื่องผิดเว้ย”

งานแห่งความท้าทาย

“ถ้าทำงานจิตอาสา ยังไงคนก็ชมคุณ แต่เรื่องเซ็กซ์นี่ชนไปหมดเลย มันเป็นความท้าทายว่าสิ่งที่ทำได้สร้างประโยชน์ไหม ได้แก้ปัญหาให้ใครไหม ตอนนี้มันเป็นช่วงวัยที่มันพร้อมจะทำเรื่องยากประมาณนี้

“สิ่งที่เราได้คืออินไซต์คน ยิ่งมีข้อมูลเยอะว่าเรื่องราวมันเป็นยังไง ทุกคนที่อยากแก้ปัญหาก็จะทำงานง่ายขึ้น อย่างน้อยก็มีข้อมูลว่าทำไมคนไม่ไปแจ้งความ หรือว่า user experience ที่เรามีมันขาดตรงไหน ดีไซน์เซอร์วิสอะไรทำให้คนไม่ตัดสินใจก้าวเข้ามา ทั้งหมดนี้คือสหวิทยาการ ซึ่งถ้ามองแยกเป็นเรื่องๆ มันจะมองไม่ได้ขนาดนี้ เช่น ถ้าเราถนัดวาดภาพประกอบเฉยๆ มันก็จะเล่าขนาดนี้ไม่ได้ ต้องมองเห็นเรื่องเพศและการกดทับด้วยถึงจะทำได้ดี

“เราอยากให้ไอเดียว่าการสื่อสารสังคมไม่ใช่กระจกสะท้อน ไม่ใช่แค่ข่าวที่บอกเล่าว่าเกิดอะไรอยู่ แต่เป็นหนึ่งใน solution ของการแก้ปัญหาที่ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม หรือไปขยับให้โครงสร้างปัญหาเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นสื่อสารเพื่อการตระหนักรู้หรือชี้ชวนอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องผลักดันข้อมูลที่สำคัญเข้าไปในระบบให้คนมีข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจ ซึ่งมันจะเป็นการตัดสินใจที่เขาเลือกเอง”

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR