‘พี่หมา’ แดนเซอร์วง PARADOX หนึ่งในสมาชิกเบื้องหน้าโชว์ที่อลหม่านที่สุดในวงการเพลงไทย

Highlights

  • คุยกับ พี่หมา พาราด็อกซ์ หรือ แบ็ต–อมรพล รุ่งรูจี แดนเซอร์วงดนตรีที่ถูกขนานนามว่าโชว์แสบสันที่สุดในวงการเพลงไทย จริงๆ แล้วอาชีพหลักของแบ็ตคือการเป็นบุคลากรในองค์กรการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยศรีปทุม
  • หน้าที่ของแก๊งมาสคอตวงดนตรีคือ การเอนเตอร์เทนคนดู สร้างสีสันให้โชว์แต่ละครั้งของวงน่าสนใจ แปลก และสนุก ไม่ซ้ำกัน แบ็ตเล่าว่าทุกครั้งที่ขึ้นเวที ทีมมาสคอตคิดเพียงอย่างเดียวว่า จะแกล้งคนดูอย่างไรให้พวกเขามีส่วนร่วมและรู้สึกเอนจอยไปตลอดโชว์ของวง

ถ้าคุณเคยมีประสบการณ์ดูวงพาราด็อกซ์เล่นสดสักครั้ง คงรู้ดีว่าซิกเนเจอร์ของโชว์จากวงดนตรีวงนี้คือความแสบสันในลีลาการเอนเตอร์เทนคนดูของสมาชิกที่ประกอบด้วยนักดนตรีและ ‘ทีมมาสคอต’ ประจำวงที่แต่งชุดประหลาด เต้นท่ากวนใจ เดินป้วนเปี้ยนไปมา สร้างความอลหม่าน เซอร์ไพรส์คนดูตลอดโชว์

จนกระทั่งเพื่อนของเพื่อนแนะนำให้เรารู้จักกับ แบ็ตอมรพล รุ่งรูจี  หนึ่งในทีมมาสคอต ที่แฟนๆ เรียกขานเขาว่า ‘พี่หมา พาราด็อกซ์’ เรื่องราวที่เราสนใจคือ อาชีพหลักของแบ็ตคือการเป็นทีมงานในศูนย์มีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม แถมยังเข้าคลาสสอนนักศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์อีกด้วย

นักศึกษาจะรู้ไหมว่าบุคลากรทางการศึกษาคนนี้มีอีกพาร์ตหนึ่งเป็นแดนเซอร์วงดนตรีที่บ้าที่สุดในเมืองไทย ชีวิตจริงของคนที่สวมหน้ากากบนเวทีเป็นอย่างไร แล้วตลอดเวลาที่แกล้งคนดูอยู่บนเวที ในหัวเขาคิดอะไรอยู่ 

เชื่อว่าการสนทนากับชายที่ยอมถอดหน้ากากนั่งพูดคุยกับเราคนนี้ คงตอบคำถามที่เราสงสัยมาเนิ่นนานได้เสียที

เริ่มต้นทำงานกับวงพาราด็อกซ์ตั้งแต่เมื่อไหร่

ก่อนหน้าที่จะมาทำงานตรงนี้เราเคยทำงานที่ Fat Radio มาก่อน ที่ Fat เรามีก๊วนเตะฟุตบอลที่เตะกับศิลปินด้วย ก็เลยได้รู้จักกับพี่ต้า พี่สอง เตะบอลกันมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งที่ก๊วนเตะบอลล่มสลาย เรากับพี่ต้าก็เลยคุยกันหลังไมค์ว่าอยากเตะบอลต่อ เลยช่วยกันเป็นตัวตั้งตัวตีฟอร์มทีมเตะบอลขึ้นมาอีก

มันมีจุดเปลี่ยนหนึ่ง ไม่รู้พูดได้หรือเปล่า (หัวเราะ) เราอกหักเว้ย เราเฟลมาก ไอ้พี่ต้าเนี่ยแหละบอกเราว่า “ปะ ขึ้นเวที” ช่วงนั้นวงกำลังจะออกอัลบั้ม BEFORE SUNRISE AFTER SUNSET จำได้เลยว่าในลิสต์เพลงมีเพลง พรุ่งนี้ เป็นเพลงที่พี่ต้าแซวว่ามันเหมาะกับความรู้สึกอกหักตอนนั้นมาก เพราะเขาอยากให้เรารู้สึกดีขึ้นก็เลยชวนไปเต้นบนเวที ไอ้เราก็ยอมไปแบบง่ายๆ ด้วยนะ

 

จำตัวเองตอนขึ้นเวทีครั้งแรกได้ไหม

ตอนขึ้นไปเต้น เราเขินมาก (พูดเสียงยาว) กลัวว่าเราจะเด๋อไหมวะ เพลงนี้ยืนตรงไหนดี ตรงนี้ก็ปลั๊กไฟ ตรงนู้นก็แอมป์กีตาร์ ช่วงแรกๆ นี่คือยืนแข็งอยู่กับที่ แต่ด้วยความเป็นแบรนด์พาราด็อกซ์ ทุกครั้งที่โชว์เขาจะชอบมีตัวนู้นตัวนี้เปลี่ยนกันมาเอนเตอร์เทนตลอดเวลา ไม่ว่าเขาทำอะไรมันไม่มีถูก ไม่มีผิด คนดูเขาก็คงสนุกและไม่น่าจะดูออกว่าเรางงอยู่ พี่ๆ คนอื่นๆ ก็พยายามให้ซีนเราได้เล่น พอเราเริ่มชิน ทุกอย่างในโชว์ก็โฟลว์ขึ้น

หน้าที่จริงๆ ของแก๊งมาสคอตคืออะไร

แก๊งมาสคอตของพาราด็อกซ์ มีตัวหลักๆ เลยคือ พี่เก่ง–นัทธา กมลรัตนกุล เป็นโจ๊กเกอร์ พี่อ๊อฟ–ชาญณรงค์ วังเย็น เป็นว้ากเกอร์ สองคนนี้จะทำหน้าที่ในการร้องประสาน ที่เหลือก็คือแดนเซอร์ที่เป็นพาร์ตเรา หน้าที่ของแก๊งมาสคอตคือเอนเตอร์เทน ทำให้โชว์แต่ละครั้งของวงน่าสนใจ แปลกและสนุกไม่ซ้ำกัน อย่างเพลงที่ต้องออกไปแจกของ เราก็รับผิดชอบหน้าที่นั้น เป็นสีสันทำให้โชว์ของวงมันเต็มขึ้น

อย่างนักดนตรีจะมีการซาวนด์เช็กก่อนเล่น แล้วพวกคุณมีซ้อมกันบ้างไหม

ไม่มีครับ เวลาเราบูมกันจะใช้คำว่า ‘ตัวใครตัวมัน’ จริงๆ เลย คือขึ้นเวทีปุ๊บ จะทำอะไรก็คือเรื่องของมึงเลย แต่ก็ต้องตกลงกันก่อนนะว่าใครรับผิดชอบซีนไหนในโชว์บ้าง เพื่อไม่ให้โชว์ดูเลอะเทอะหรือมั่วเกินไป เล่าแบบนี้แล้วดูเหมือนไม่รักกันเลยนะ แต่จริงๆ รักกันมาก แค่เวลาทำงานเราตัวใครตัวมัน (หัวเราะ)

 

แล้วทำไมถึงต้องสวมหน้ากากหมาจนแฟนๆ เรียกขานคุณว่า ‘พี่หมา’

เป็นคาแร็กเตอร์ ตัวตนจริงๆ ของเราเป็นคนสนุกนะ บนเวทีเราก็เลยอยากถ่ายทอดตัวตนของเราออกไปด้วย จริงๆ เราลองใส่มาหลายหัวแล้ว แต่เรารู้สึกว่าหมาเราจะอิน จะรู้สึกกับมันมากที่สุด คงเพราะมันมีความทะเล้น มันซน มันน่ารัก แล้วมันก็เอ๋อได้ คิดว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับคาแร็กเตอร์นี้

แล้วนักศึกษาเขารู้ไหมว่าคุณคือพี่หมา

รู้น้อย คือเวลาเราสอนหนังสือ เขาก็จะแอดเฟซบุ๊กเรามาบ้าง เขาก็จะรู้กันตอนนั้นแหละ หรือบางทีอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าเรา เขาก็บอกนักศึกษาเลยว่า เนี่ย พี่เขาอยู่วงพาราด็อกซ์นะ เด็กก็เซอร์ไพรส์เอาตอนนั้น ซึ่งหลายคนเขาก็ไม่ค่อยเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริงนะ เพราะเวลาเรามาทำงานเราก็เป็นอีกคาแร็กเตอร์หนึ่ง ไม่แปลกที่เขาจะคาดไม่ถึงว่าเราจะไปทำอะไรแบบนั้น (หัวเราะ) แต่เวลาพวกเขาทักหรือตามไปดูโชว์ก็มีแอบเขินเหมือนกัน

กลับมาที่เวทีดีกว่า ทุกครั้งที่ใส่หน้ากากในหัวคุณคิดอะไรบ้าง

เราคิดอยู่อย่างเดียวว่าจะแกล้งคนดูยังไง เราจะ เอ๋ คนตรงนั้นหน้าตาดีนะ เราจะทำยังไงให้ของที่อยู่ในมือเราไปถึงเขาให้ได้ (หัวเราะ) หรือคิดว่าใช้มุกนี้เล่นกับเขาจะเวิร์กไหมนะ เอาง่ายๆ หลักๆ เราพยายามสนุกกับคนดู พอยต์ของเราคือต้องการทำให้คนดูมี activity ร่วมกับวงเยอะๆ นักร้องก็หลับหูหลับตาร้องไป มือเบส มือกลอง ก็ทำหน้าที่ของเขาไป หน้าที่เราคือทำยังไงก็ได้ให้คนดูแอ็กทีฟกับเรา

 

เป็นกฎอย่างจริงจังเลยไหมว่าห้ามถอดหน้ากาก

เราไม่ได้ถือกันว่าต้องเป็นกฎขนาดนั้น แต่ในความเป็นจริง เราไม่ใช่พี่แบ็ต พาราด็อกซ์ นึกออกไหม ตัวตนจริงๆ เราคือหนึ่งในทีมงานมหาวิทยาลัยศรีปทุม เรารู้สึกว่าเราเป็นพาราด็อกซ์ก็ต่อเมื่อเป็นพี่หมา สมมติอยู่บนเวทีแล้วเผลอเปิดหน้าขึ้นมา เรารู้สึกทันทีว่ามันไม่ใช่พาราด็อกซ์เว้ย อันนี้มันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวง เราไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไร เขินมั้ง แต่ที่แน่ๆ คือไม่ถอดแน่ๆ (หัวเราะ) ให้คนเขาจำภาพพี่หมา พาราด็อกซ์ ไปเลยดีกว่า

จะว่าไปแล้วนี่ก็เหมือนยอดมนุษย์เหมือนกันนะคือ ไม่ต้องบอกให้คนอื่นรู้ว่าตัวจริงเขาคือใคร ซ่อนตัวจริงเอาไว้ สวมชุด สวมหน้ากาก แปลงร่างเป็นคนนั้นคนนี้ ความรู้สึกตอนเป็นพี่หมาก็น่าจะประมาณนี้แหละมั้ง

คุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของวงตลอดเลยไหม

ใช่ ตอนนี้มันรู้สึกกลมกลืนแบบนั้นไปแล้ว การได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของวงถือเป็นเรื่องโชคดีเรื่องหนึ่งในชีวิตเลย เราเคยฟังเพลงพี่ๆ เขามาตั้งแต่ยุคโน้น แล้ววันหนึ่งก็ได้จับพลัดจับผลูเตะบอลด้วยกัน แค่นี้เราก็ดีใจมากแล้ว

หลายปีที่แล้วที่เราเคยออกประกาศตามหาพ่อแม่เพราะเราติดต่อเขาไม่ได้เป็นวันๆ เพจวงก็ช่วยกระจายข่าว จนกระทั่งตำรวจไปเจอเบาะแสพวกเขาที่จันทบุรี แฟนๆ ของวงที่จันทบุรีน่ารักมาก เขาเป็นแฟนคลับที่เป็นกลุ่มครอบครัวพ่อแม่ลูก น่ารักมาก คอยอำนวยความสะดวก ซัพพอร์ตเราทุกอย่าง พาไปหาตำรวจ คอยประสานงาน หาที่พัก เดินเรื่องเอกสาร เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เราลืมไม่ได้เลย

คุณขึ้นเวทีครั้งแรกเพราะอกหัก อะไรคือเหตุผลที่คุณยังเต้นกับวงมาเรื่อยๆ

เราค้นพบความสุขบางอย่างที่อยู่ในนั้น (มองไปที่หน้ากาก) เราทำงานประจำ มันมีเครียด มีเหนื่อย มีท้อ แน่นอน แต่เวลาที่ได้อยู่ภายใต้หน้ากาก หนึ่งชั่วโมงในหนึ่งโชว์ มันไม่มีเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวเลย มันเหมือนเราได้ไปกระโดดโลดเต้น เราไปแชร์ความสุขให้คนอื่น ทุกครั้งที่ได้ทำอะไรให้คนอื่น เราจะได้พลังกลับมาเสมอ ต่อให้วันนั้นเหนื่อยแค่ไหน เช้าวันรุ่งขึ้นเราจะรู้สึกว่าตัวเองมีพลังก้อนใหม่ๆ ให้ใช้ทุกครั้งเลย

เราว่านี่แหละคือเสน่ห์ของการที่เราได้ทำงานในพาราด็อกซ์ แล้วเราก็อยากทำมันอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อยากแก่และซ่าไปกับพวกเขา ทุกครั้งที่มีโชว์ก็เหมือนเราเอาเวลาไปเจอเพื่อน เหมือนนัดคนมาเตะบอลด้วยกันหนึ่งชั่วโมง ออกแรงให้อะดรีนาลีนหลั่ง แล้วก็แยกย้ายกลับไปใช้ชีวิตจริงกันใหม่ เป็นวงจร เมื่อยก็ไปเติม เหนื่อยก็ไปเติม อะไรแบบนั้น

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวุฒิ เตจา

นักเรียนศิลปะการถ่ายภาพผู้นอนเช้าตื่นบ่ายและกำลังจะตายกับหัวข้อทีสิส กำลังหัดกินกาแฟและดูแลต้นไม้ 8 ต้น