COMME des GARÇONS เมื่อแบรนด์ขบถในโลกแฟชั่นจากฝั่งตะวันออกปฏิวัติโลกแฟชั่นฝั่งตะวันตก

Comme des Garcons

ถ้าพูดถึงดินแดนในโลกตะวันออกที่ได้รับการยอมรับและมีความก้าวหน้าในเรื่อง ‘แฟชั่น’ คงหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่นที่มีความหลากหลายของสไตล์แฟชั่นและมีความพิเศษเฉพาะตัว แต่น่าแปลกที่เมื่อพูดถึงแบรนด์จากดินแดนแห่งนี้ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในเวทีระดับโลก กลับมีอยู่เพียงไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่โดดเด่นหรือทัดเทียมกับแบรนด์จากโลกตะวันตก นับแล้วน้อยกว่าจำนวนนิ้วมือทั้งสองข้างรวมกันซะอีก

Comme des Garcons

โดยหนึ่งในแบรนด์ญี่ปุ่นที่โดดเด่นและสร้างชื่อเสียงจนได้รับการยอมรับในเวทีโลกและถูกนึกถึงเป็นชื่อแรกๆ คือ COMME des GARÇONS แบรนด์อาว็องการ์ดชื่อฝรั่งเศสสัญชาติญี่ปุ่นที่มีสไตล์เสื้อผ้าแปลกประหลาด เต็มไปด้วยจินตนาการหลุดโลกล้นเหลือ จนบางครั้งกลับดูเหมือนเรากำลังมองงานศิลปะในรูปแบบเสื้อผ้ามากกว่า

แบรนด์เสื้อผ้าล้ำจินตนาการแบรนด์นี้มาจากฝีมือของ Rei Kawakubo ผู้ที่ครั้งหนึ่งถูกโลกตะวันตกขนานนามว่าเป็นขบถแฟชั่น จากคนที่ไม่มีความรู้เรื่องออกแบบเสื้อผ้าอะไรเลย แต่ใช้ความเชื่อของตัวเองผลักดันด้วยความมั่นคงแน่วแน่ จนอาณาจักรภายใต้ชื่อแบรนด์ของเธอมีมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งหมดเริ่มต้นจากเรย์ คาวาคูโบะ เพียงคนเดียว

สิ่งที่น่าสนใจคืออะไรทำให้เรย์พา COMME des GARÇONS ก้าวมาอยู่ในจุดนี้ในขณะที่แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นจำนวนมากไม่อาจทำได้

เรย์เกิดที่โตเกียวเมื่อ 11 ตุลาคม 1942 เป็นลูกสาวคนโตและคนเดียวจากพี่น้องทั้งหมด 3 คน คุณพ่อเป็นผู้บริหารและคุณแม่เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษอยู่ที่มหาวิทยาลัย Keio ภายหลังเธอเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวในสาขา Fine Arts ทั้งภาคญี่ปุ่นและตะวันตก หลังจบการศึกษาในปี 1964 เธอเริ่มต้นอาชีพการทำงานในแผนกโฆษณาประชาสัมพันธ์ในบริษัทเคมีภัณท์ชื่อ Asahi Kasei ที่ผลิตผ้าใยสังเคราะห์ ในที่ทำงานเธอเป็นคนเดียวที่ไม่ยอมใส่ชุดเหมือนพนักงานออฟฟิศทั่วไป ต่อมาในปี 1967 เธอเริ่มต้นทำงานฟรีแลนซ์ในฐานะแฟชั่นสไตลิสต์ตามคำแนะนำของรุ่นพี่ในที่ทำงาน

เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่นเธอไม่เคยคิดที่จะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์หรืออะไรเลย เธอแค่ทำอะไรก็ตามที่เธอทำได้เพื่อหาเลี้ยงชีพ ในช่วงเวลานั้นสิ่งที่ทำให้เรย์แตกต่างจากคนอื่นๆ คือยามที่เธอไม่สามารถหาพร็อพเครื่องแต่งกายใดๆ ที่เข้ากับโจทย์ เธอจะเลือกออกแบบและตัดเย็บของชิ้นนั้นๆ ขึ้นมาเอง เธอจึงเริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นจากความพิเศษดังกล่าว ขณะเดียวกันเงินจากการทำงานสไตลิสต์ก็นำมาลงทุนทำเสื้อผ้า sportswear วางขายที่ร้านบูทีกที่ชื่อ BELLE BOUDOIR ย่านกินซ่า ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็น trend setting shop ชื่อดังในเวลานั้น ของที่เธอทำได้รับการตอบรับที่ดีและชื่อเสียงของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากสไตล์เสื้อผ้าของเธอ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรย์ในการเริ่มต้นทำแบรนด์เสื้อผ้าอย่างจริงจังในชื่อ COMME des GARÇONS

Comme des Garcons

ที่มาของชื่อแบรนด์ COMME des GARÇONS นั้นเรย์ได้แรงบันดาลใจมาจากเนื้อเพลงของศิลปินหญิงชาวฝรั่งเศส Françoise Hardy จากเพลงที่ชื่อ Tous les garçons et les filles ในเนื้อเพลงท่อนที่กล่าวว่า ‘Comme les garçons et les filles de mon age’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘like some boys’ หรือ ‘เหมือนเด็กผู้ชาย’ ด้วยความที่เธอเชื่อว่าผู้หญิงไม่มีความจำเป็นจะต้องใส่เสื้อผ้าเพื่อโชว์สรีระหรือใส่เสื้อผ้าเข้ารูปเสมอไป ไม่จำเป็นจะต้องแต่งตัวตามแบบแผน ความสวยงามของผู้หญิงควรอยู่นอกเหนือข้อจำกัดทางสรีระ นั่นจึงเป็นที่มาของแบรนด์ที่เธอก่อตั้งขึ้นในปี 1969 และจดทะเบียนบริษัทในปี 1973 ภายใต้ชื่อ COMME des GARÇONS Co.,Ltd. โดยในช่วงแรกๆ เธอทำเสื้อผ้าผู้หญิงเพียงอย่างเดียว ซึ่ง ณ เวลานั้นเธอยังมีผู้ช่วยแค่ 2-3 คนเท่านั้น และเริ่มต้นทำเสื้อผ้าที่ยังไม่ถูกเรียกว่าเป็นคอลเลกชั่นเต็มๆ

Comme des Garcons

คอลเลกชั่นแรกของ COMME des GARÇONS เปิดตัวที่โตเกียวครั้งแรกในปี 1975 ก่อนที่จะเปิดร้าน ​​COMME des GARÇONS สาขาแรกที่ย่านมานามิ-อาโอยาม่าในปีต่อมา โดยร้านดังกล่าวเธอทำงานร่วมกับสถาปนิก Takao Kawasaki (ผู้ออกแบบร้าน COMME des GARÇONS เกือบทั้งหมดจวบจนถึงปัจจุบัน) ความพิเศษของร้านแรกของเธอคือทั้งร้านไม่มีกระจกให้ลูกค้าได้มองตอนลองเสื้อผ้าเลย เพราะเธอต้องการให้ลูกค้าให้ความสำคัญกับความรู้สึกตอนสวมใส่มากกว่าภาพที่มองผ่านกระจก

ในปี 1978 เธอเปิดตัว COMME des GARÇONS Homme ที่เป็นไลน์เสื้อผ้าผู้ชาย ก่อนที่จะตามมาด้วยไลน์เสื้อผ้าอื่นๆ อีกมากมายในเวลาต่อมา แบรนด์ของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมาก ทำให้เธอกลายเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่น่าจับตามอง ควบคู่ไปกับอีกหนึ่งตำนานของญี่ปุ่นอย่าง Yohji Yamamoto ที่ถือว่าอยู่ในรุ่นไล่เลี่ยกัน (ทั้งคู่เคยคบกันในช่วงยุค 80s-90s ก่อนจะแยกทางและเรย์ได้ไปแต่งงานกับ Adrian Joffe ที่อายุอ่อนกว่าถึง 10 ปีในปี 1992) 

ในปี 1980 ออฟฟิศเธอมีพนักงานมากกว่า 80 คน มีร้านสาขาและตัวแทนจำหน่ายมากกว่า 150 แห่ง ทำรายได้เฉลี่ยต่อปีถึง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สื่อมวลชนในประเทศและแฟนๆ ของแบรนด์ต่างนิยามตัวเธอว่าเป็น ‘The Crows’ หรือ ‘อีกา’ เพราะเธอเองมักจะปรากฏตัวโดยใส่เสื้อผ้าสีดำอยู่ตลอดเวลา เธอได้สร้างค่านิยมการใส่เสื้อผ้าสีดำให้กับผู้หญิงยุคใหม่ ณ เวลานั้น ต่อมาสีดำเลยกลายมาเป็นดีเอ็นเอที่สำคัญของ COMME des GARÇONS

Comme des Garcons
Comme des Garcons
Comme des Garcons

เรย์ก้าวเข้าสู่เวทีแฟชั่นระดับโลกในเดือนเมษายน ปี 1981 ด้วยการเปิดตัวคอลเลกชั่นเสื้อผ้าผู้หญิงครั้งแรกที่กรุงปารีสพร้อมกับโยจิ ยามาโมโตะ และ Issey Miyake โดยเธอได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการแฟชั่นระดับโลก สไตล์เสื้อผ้าที่เธอออกแบบเปลี่ยนขนบธรรมเนียมของแฟชั่นที่เคยเห็นกันในเวลานั้น มันแปลกประหลาดแบบที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ด้วยดีไซน์แหวกแนวแบบอาว็องการ์ดและโอเวอร์ไซส์ มีการตัดเย็บในแบบไม่สมมาตร และมีโทนสีโมโนโครม (ขาว เทา ดำ) ที่เล่นกับรูปแบบเนื้อผ้าที่ใช้แตกต่างกัน แพตเทิร์นก็ซับซ้อน ยุ่งเหยิง ดูไม่เรียบร้อย กลายเป็นกระแสและเป็นที่ถกเถียงในโลกแฟชั่นฝั่งตะวันตกอย่างกว้างขวางต่อผลงานของเธอ

ปีต่อมาเธอสร้างความฮือฮามากขึ้นไปอีก เมื่อเธอโชว์คอลเลกชั่น ‘Destroy’ ด้วยสไตล์เสื้อผ้าแบบ Neo-Gothic ที่โชว์เสื้อคลุมที่ยับยู่ยี่ เสื้อไหมพรมตัวโคร่งที่มีรูขาดขนาดใหญ่ ใช้เนื้อผ้าผสมหลากหลายประเภทที่มีเฉดสีดำแตกต่างกัน และยังคงคอนเซปต์เสื้อผ้าในแบบ unfinished เหมือนอย่างเคย สื่อมวลชนตะวันตกบางคนวิจารณ์เสื้อผ้าของเธอเหมือน ‘เสื้อผ้าในยุคโลกาวินาศ’ บ้างก็วิจารณ์ไปถึงประเด็นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยประโยคที่นิยามเสื้อผ้าของเธอว่า ‘hiroshima chic’ หรือ ‘post-atomic’ และมองว่าสิ่งที่เธอทำนั้นเป็นการ ‘ขบถต่อโลกแฟชั่น’ (anti-fashion) ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงเสื้อผ้าหรือการใช้สีดำ

Comme des Garcons
Comme des Garcons
Comme des Garcons

สื่อแฟชั่นในโลกตะวันตกวิจารณ์ผลงานของเรย์อย่างเละเทะไม่มีชิ้นดี และมองว่าแฟชั่นของเธอก่อให้เกิดความขัดแย้ง แต่เธอกลับไม่สนใจ เธอเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า การที่เธอมาที่ปารีสเพราะเธอตั้งใจที่จะนำเสนอความสวยงามและแข็งแกร่งในมุมมองของเธอก็เท่านั้น ต่างกันก็แค่มุมมองของเธอไม่เหมือนกับคนอื่น เหตุใดเธอจะต้องไปประนีประนอมกับเสียงวิจารณ์เหล่านั้น ในเมื่อเธอไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงความเชื่อของตัวเอง

ในขณะที่ความสวยงามของแฟชั่นในแบบฝรั่งเศสมีแนวทางสง่างามแบบ Yves Saint Laurent หรือ Chanel แต่เรย์ (รวมทั้งโยจิ ยามาโมโตะ) กลับตีความหมายของความสวยงามในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกแฟชั่นตะวันตก ความแตกต่างเหล่านี้สร้างความสนใจให้กับบรรดาร้านแฟชั่นบูทีกหัวก้าวหน้า เช่น Bergdorf Goodman และ Browns ที่เริ่มต้นขายเสื้อผ้าของ COMME des GARÇONS และมองว่านี่คือความสดใหม่ ก้าวหน้า แสดงออกถึงความแข็งแกร่งของผู้หญิงรุ่นใหม่ในแบบที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน

เสื้อผ้าที่ออกแบบโดยเรย์เริ่มสร้างค่านิยมใหม่ในโลกแฟชั่นยุค 80s และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการหลุดออกจากกรอบแฟชั่นผู้หญิงแบบเดิมๆ บรรดาผู้หญิงที่อยู่ในสายวงการแฟชั่น บันเทิง ครีเอทีฟ และศิลปะ เริ่มใส่ COMME des GARÇONS เพราะมองว่าเสื้อผ้าของเรย์คือตัวแทนของผู้หญิงยุคใหม่ที่มีความมั่นใจและโมเดิร์นล้ำสมัย ไม่ได้นำเอาความเซ็กซี่มานำเสนอผ่านเสื้อผ้าอย่างที่ผ่านมา แต่เป็นเรื่องการสร้างรสนิยมและปลูกฝังความคิดแบบใหม่

หนึ่งในคอลเลกชั่นที่กลายเป็นไอคอนและถูกกล่าวถึงมากที่สุดที่ผ่านมาของเรย์คือ Spring/Summer 1997 ที่ชื่อ ‘Body Meets Dress, Dress Meets Body’ โดยเรย์ออกแบบเสื้อผ้าที่เสริมยัดฟองน้ำเอาไว้ตามส่วนต่างๆ ก่อให้เกิดฟอร์มที่บิดเบี้ยวปูดโปนออกมา ดูแปลกประหลาดและน่าตกใจในเวลาเดียวกัน แล้วเลือกใช้ผ้าลายตารางหมากรุก Gingham สีสันต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่เน้นสีดำเป็นหลัก จากชุดเสื้อผ้าที่แปลกประหลาดเหมือนเอาหมอนนุ่นยัดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย สื่อสายแฟชั่นวิจารณ์ผลงานของเธอว่าเหมือน ‘คนท้อง’ หรือ ‘เนื้องอก’ บ้างก็ตีความไปถึงการล้อเลียนรูปร่างของผู้หญิงหรือคนพิการ ในขณะที่เรย์ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องแรงบันดาลใจในการออกแบบเอาไว้ว่า ร่างกายของคนเราไม่ควรจะมีข้อจำกัดเรื่องรูปร่างที่บ่งบอกว่าแบบไหนดีหรือไม่ดี ตัวเธอเองมองข้ามข้อจำกัดเหมารวมดังกล่าว และนำเสนอความแข็งแกร่งของรูปร่างผ่านเสื้อผ้าในมุมมองที่แตกต่างออกไป 

เธอมองว่าเสื้อผ้าก็คือส่วนหนึ่งของร่างกาย และร่างกายเราเองก็ถือเป็นเสื้อผ้าเช่นเดียวกัน คอลเลกชั่นเสื้อผ้าดังกล่าวถูกเรียกในอีกชื่อว่า ‘Lumps and Bumps Show’ และได้กลายมาเป็นหนึ่งในผลงานไอคอนของเรย์ที่กล้านำเสนอมุมมองต่อร่างกายในอีกรูปแบบที่แตกต่างและล้ำสมัยจวบจนปัจจุบัน

แต่ละคอลเลกชั่นของเรย์มีแรงบันดาลใจที่แตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่จะมีวัฒนธรรมกบฏอย่างพังก์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ผ้าลายสก๊อต หมุดเหล็ก การใช้วัสดุอย่างหนังหรือการตัดเย็บที่ดูเหมือน D.I.Y รวมไปถึงรูปแบบเสื้อผ้าที่แปลกประหลาดและเทคนิคตัดเย็บแบบพิเศษที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ในขณะเดียวกันก็เอาเทรนด์แฟชั่นที่ได้รับความนิยมในขณะนั้นมาผสมผสานและตีความในรูปแบบใหม่ด้วย

นอกจากนั้นวิธีการนำเสนอคอลเลกชั่นต่างๆ ของเรย์ยังแตกต่างจากคนอื่นๆ เช่น การแต่งหน้านางแบบให้ซีดๆ ทำผมยุ่งเหยิง เชิญเพื่อนสนิทหรือคนรู้จักมาเดินแบบ ในอดีตก็เช่น ศิลปินอย่าง Jean-Michel Basquiat และ Robert Rauschenberg แม้กระทั่งดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง Alexander McQueen รวมไปถึงรูปแบบการนำเสนอหรือโฆษณาของ COMME des GARÇONS ที่มีเรย์เป็นคนดูแลภาพรวมทั้งหมดก็มีรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ในขณะนั้น

จากผลงานทั้งหมด เธอจึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้แฟชั่นดีไซเนอร์รุ่นหลังๆ มากมาย เช่น Martin Margiela, Helmut Lang, Marc Jacobs, John Galliano, Ann Demeulemeester หรือแม้กระทั่ง Miuccia Prada ก็มีเธอเป็นแรงบันดาลใจเช่นกัน

Comme des Garcons
Comme des Garcons
Comme des Garcons

ปัจจุบัน COMME des GARÇONS มีไลน์เสื้อผ้าที่แตกออกไปมากกว่า 25 ไลน์ย่อย แบ่งออกตามประเภทสินค้า เช่น

⁃ COMME des GARÇONS เป็นไลน์เสื้อผ้าผู้หญิงที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 1969

⁃ COMME des GARÇONS Homme Plus เป็นไลน์เสื้อผ้าผู้ชาย เปิดตัวในปี 1984

⁃ COMME des GARÇONS Noir เป็นไลน์เสื้อผ้าผู้หยิงที่เน้นสีดำล้วน เปิดตัวในปี 1987

⁃ COMME des GARÇONS Homme Deux เป็นไลน์เสื้อผ้าผู้ชายที่เน้นการตัดเย็บแบบ Tailored เปิดตัวในปี 1987

⁃ COMME des GARÇONS Shirt เป็นไลน์เสื้อผ้าทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่เน้นเฉพาะเสื้อเชิตเพียงอย่างเดียว เปิดตัวในปี 1988

⁃ COMME des GARÇONS PLAY เป็นไลน์เสื้อผ้ายูนิเซกซ์แบบ casualwear ที่เน้นลูกค้าวัยรุ่น ด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายด้วยโลโก้รูปหัวใจที่ออกแบบโดยศิลปินกราฟิก Filip Pagowski จากนิวยอร์ก และถือเป็นไลน์ที่มีคนรู้จักและนิยมมากที่สุด เปิดตัวในปี 2002 รายได้เฉพาะไลน์ PLAY คิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ทั้งหมดในเครือเลยทีเดียว

Comme des Garcons
Comme des Garcons
Comme des Garcons

โดยไลน์เสื้อผ้าที่ร่ายมา (และนอกเหนือจากนี้) เรย์เป็นคนดูภาพรวมในการออกแบบแทบจะทั้งหมด แต่ก็ยังมีไลน์เสื้อผ้าอื่นๆ ที่มาจากผลงานลูกมือคนสำคัญของเธออย่าง Junya Watanabe ลูกศิษย์คนสำคัญที่เริ่มต้นทำงานกับเรย์มาตั้งแต่ปี 1978 ในตำแหน่ง patternmaker ก่อนจะเข้ามารับผิดชอบไลน์ COMME des GARÇONS Homme (CdGH) ที่เป็นไลน์เสื้อผ้าผู้ชายมาตั้งแต่ปี 1978 และไลน์เสื้อผ้าผู้หญิง knitwear ที่ชื่อ Tricot จนกระทั่งเริ่มต้นไลน์ของตัวเองที่ชื่อ Junya Watanabe COMME des GARÇONS ที่เริ่มต้นจากไลน์เสื้อผ้าผู้หญิงในปี 1992 และไลน์เสื้อผ้าผู้ชาย Junya Watanabe MAN ในปี 2001 และยังมี Tao Kurihara (ปัจจุบันรับผิดชอบ ​Tricot), Fumito Ganryu (ปัจจุบันลาออกไปเปิดแบรนด์เสื้อผ้าอิสระภายใต้ชื่อตัวเอง) และ Kei Ninomiya (รับผิดชอบ Noir Kei Nionomiya ที่เป็นไลน์เสื้อผ้าผู้หญิง) 

ไม่ใช่แค่เฉพาะเสื้อผ้าเพียงอย่างเดียว ยังมี COMME des GARÇONS Parfums ไลน์น้ำหอมที่เปิดตัวในปี 1994 และ COMME des GARÇONS Pearl ที่เป็นไลน์เครื่องประดับ และอื่นๆ อีกมากมาย รวมไปถึงการคอยซัพพอร์ตแบรนด์หน้าใหม่อย่าง Gosha Rubchinskiy แบรนด์ ​post-soviet streewear จากรัสเซีย (ก่อนที่แบรนด์จะปิดตัวลงในปี 2018)

Comme des Garcons

นอกจากนั้นยังมี Good Design Shop (GDS) ที่เปิดตัวในปี 2011 โดยเป็นโปรเจกต์พิเศษที่ ​COMME des GARÇONS ทำร่วมกับดีไซเนอร์ Kenmei Nagaoka จาก D&DEPARTMENT ไลฟ์สไตล์ช็อปชื่อดังในโตเกียว คอนเซปต์คือเป็นพื้นที่ที่เน้นเสื้อผ้าสไตล์ casual streetwear ราคาย่อมเยา เจาะกลุ่มตลาดลูกค้าวัยรุ่นและเมนสตรีมเป็นหลัก (นอกเหนือไปจาก PLAY) และยังมีเครื่องประดับอื่นๆ อีกมากมายที่เน้นการสร้าง identity ให้กับแบรนด์โดยใช้โลโก้ตัวหนังสือ CDG เป็นหลัก ภายหลังโปรเจกต์ดังกล่าวสิ้นสุดลงในปี 2018 เอเดรียน จ็อฟ (สามีของเรย์) ก็เปิดตัวไลน์เสื้อผ้า CDGCDGCDG ที่นิยามสไตล์เสื้อผ้าของตัวเองว่าเป็น internet-based label ซึ่งยังคงคอนเซปต์เหมือนอย่างที่ทำ GDS และเพิ่มความหลากหลายด้วยการคอลแล็บกับแบรนด์ streetwear มากมาย โดยที่เน้นโลโก้กราฟิกในการออกแบบเป็นหลัก

Comme des Garcons
Comme des Garcons

ปัจจุบัน COMME des GARÇONS มี flagship store อยู่ตามหัวเมืองหลักใหญ่ๆ ของโลก ประกอบไปด้วย ลอนดอน ปารีส นิวยอร์ก ฮ่องกง ปักกิ่ง โซล และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ส่วนในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีทั้งที่โตเกียว เกียวโต โอซาก้า และฟุกุโอกะ รวมไปถึงร้านที่เป็น ​corner shop ตามห้างสรรพสินค้าชื่อดังอีกมากมาย และ pop-ups ในหลายๆ เมืองทั่วโลก สำหรับบ้านเราเองในกรุงเทพฯ ก็มีร้าน COMME des GARÇONS อยู่ 2 สาขาที่สยามดิสคัฟเวอรี่และเกษรพลาซ่า รวมไปถึง PLAY Shop ที่เอ็มควอเทียร์ด้วยเช่นกัน

และอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญภายใต้ร่มเงาของเรย์คือ Dover Street Market (DSM) ร้าน multi-brands ชื่อดังระดับโลกที่เธอก่อตั้งร่วมกับสามี โดยได้แรงบันดาลใจมาจากย่าน Kensington Market ที่เคยเป็นย่านแฟชั่นที่สำคัญของอังกฤษมากว่า 40 ปี โดย DSM ได้รับการยอมรับว่าเป็น trendsetter ของโลกแฟชั่นในปัจจุบัน โดย​ทั้งคู่เปิดสาขาแรกที่ลอนดอนในปี 2004 ที่ย่านเมย์แฟร์ (ก่อนย้ายมาที่ย่านเฮย์มาร์เก็ตในปี 2016) สาขากินซ่าในปี 2012 สาขานิวยอร์กในปี 2013 สาขาสิงคโปร์ในปี 2017 สาขาปักกิ่งในช่วงต้นปี 2018 และสาขาลอสแอนเจลิสในช่วงปลายปี 2018 

ต่อมาในช่วงเดือนตุลาคมปี 2019 ก็เปิด ​Dover Street Parfums Market ที่ปารีส โดยเป็น beauty store ที่เน้นสินค้าประเภทน้ำหอมและเครื่องสำอางต่างๆ โดยเฉพาะ

คอนเซปต์การตกแต่งร้านของ DSM เป็นแบบ ​​​anti-luxury ที่ภายในเปิดเผยให้เห็นโครงสร้างที่ไม่เรียบร้อย ผนังปูนเปลือย และพื้นคอนกรีตแบบดิบๆ ซึ่งเรย์เคยให้นิยามของ DSM เอาไว้ว่าเป็น beautiful chaos หรือความยุ่งเหยิงที่งดงามเหมือนอย่างสไตล์เสื้อผ้าของเธอเอง ด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ตลอดเวลา 

นอกจากขายแบรนด์ในเครือของ COMME des GARÇONS เองแล้ว ยังมีแบรนด์ชั้นนำอีกมากมายที่วางจำหน่ายใน DSM เช่น Louis Vuitton, Gucci, Dior, Balenciaga, Maison Magiela, VETEMENTS, LOEWE, Prada, Raf Simons, Thom Browne, Off-White, sacai, UNDERCOVER และ visvim 

ยังไม่นับแบรนด์ streetwear ชื่อดังอย่าง SUPREME ที่ DSM เป็นเจ้าเดียวเท่านั้นในโลกที่มีสินค้าของ SUPREME วางขายนอกเหนือไปจากร้านของ SUPREME เอง นอกจากนั้นยังมี Stussy, Bape, Noah, Brain Dead, Palace รวมไปถึง NikeLab ที่เป็นสินค้าเอกซ์คลูซีฟของ Nike ที่มีวางจำหน่ายเฉพาะบางแห่งอีกด้วย โดยแต่ละแบรนด์จะมีดีไซน์การตกแต่งในลักษณะแบบ​ shop in shop ที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้ DSM ในแต่ละสาขามีความพิเศษเฉพาะตัว นอกจากนั้นเรย์และจ็อฟยังทำงานร่วมกับศิลปินแขนงต่างๆ ในการตกแต่งร้าน DSM (รวมไปถึงร้าน CDG เอง) ให้เป็นเหมือนพื้นที่แสดงงานศิลปะควบคู่กันไปอีกด้วย

COMME des GARÇONS มีโปรเจกต์​คอลแล็บมากมายภายใต้แบรนด์ย่อยๆ ในเครือของเรย์ ทั้งกับศิลปินแขนงต่างๆ หรือแบรนด์อื่นๆ มากมาย เช่น Louis Vuitton หรือ Nike ที่มีเสื้อผ้าและรองเท้าร่วมกันส่วนหนึ่งในไลน์ BLACK COMME des GARÇONS หรือรองเท้าที่ทำร่วมกับไลน์ผู้ชายอย่าง Homme, ไลน์ ​Shirt ที่ทำร่วมกับ​ SUPREME, Nike, Vans และ Asics ขณะที่ไลน์ใหม่อย่าง CDGCDGCDG ก็ทำกับ Stussy และ Vans อยู่เป็นประจำ 

และที่เราน่าจะคุ้นกันดีคือไลน์วัยรุ่นอย่าง PLAY ที่คอลแล็บกับ Converse ให้เห็นประจำทุกๆ ซีซั่น นอกจากนั้นไลน์ของดีไซเนอร์อย่างจุนยะ วาตานาเบะ ก็เริ่มต้นทำงานร่วมกับ Nike ก่อนบรรดาไลน์หลักมาตั้งแต่ปี 1999 แล้ว รวมไปถึง New Balance ด้วย

เกียรติประวัติของเรย์นั้นมีมากมายจากผลงานที่ผ่านๆ มา ได้รับการเคารพและยอมรับนับถือในวงกว้าง ในปี 1997 เธอได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก The Royal College of Art ลอนดอน และในปี 2000 จากมหาวิทยาลัย Harvard ตำแหน่ง The Excellence in Design Award ในฐานะที่เธอนำ ‘สีดำ’ มาใช้ในการออกแบบเสื้อผ้าที่ในช่วงเวลานั้นไม่มีใครเลือกที่จะนำมาใช้ และเป็นเธอที่ทำให้การใช้สีดำกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง 

ไม่เพียงเท่านั้น ผลงานออกแบบของเธอยังถูกนำไปจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์และสถานที่ต่างๆ มากมาย เช่น นิทรรศการภาพถ่ายของ COMME des GARÇONS โดยช่างภาพ Peter Lindbergh ที่ The Centre Georges Pompidou ในปารีสเมื่อปี 1986 เป็นต้น 

และที่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญคือ ในปี 2017 เธอได้รับเกียรติจาก The Metropolitan Museum of Art ไปจัดแสดงผลงานออกแบบที่ผ่านมาของเธอในงาน Met Gala 2017 ซึ่งเป็นงานสำคัญในวงการแฟชั่น โดยเรย์เป็นดีไซเนอร์คนที่ 2 ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ที่ได้รับเกียรติต่อจาก Yves Saint Laurent ในปี 1983 โดยนิทรรศการดังกล่าวจัดขึ้นในธีม Art of the In-Between ด้วยหัวข้อที่แตกต่างกัน เช่น Fashion/Anti-Fashion, Design/Not Design, Then/Now, High/Low และ Clothes/Not Clothes เป็นต้น โดยจัดแสดงผลงานกว่า 150 ชิ้นจากคอลเลกชั่นแรกจนถึงปัจจุบัน

ทุกวันนี้เรย์ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้โดนเทคโอเวอร์จากนายทุนเหมือนแบรนด์อื่นๆ ทำให้เธอมีอิสระเต็มที่โดยไม่มีกรอบหรือข้อจำกัดใดๆ มาปิดกั้นความคิดและจินตนาการของเธอ ปัจจุบันรายได้ของบริษัทอยู่ที่ราวๆ ปีละ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากไลน์เสื้อผ้า สินค้าในเครือ และธุรกิจร้าน multi-brands อย่าง Dover Street Market

จากเด็กหญิงที่เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สวมถุงเท้าย่นกองข้อเท้าสวนทางกับคนอื่นที่แต่งตัวตามระเบียบ เพียงเพราะอยากจะเป็นตัวของตัวเอง เธอได้เปลี่ยนโลกของแฟชั่นในรูปแบบที่ตัวเองยึดมั่นและหลุดออกจากกรอบวัฒนธรรมแสนจำเจแม้ต้องพบเจอกับความล้มเหลวตั้งแต่ที่ก้าวย่างออกไป จนวันนี้กลับกลายมาเป็นขบถที่ปฏิวัติโลกแฟชั่น สร้างผลงานเฉพาะตัวที่ยากจะมีคนเลียนแบบ ขึ้นแท่นเป็นตำนานที่ยังมีชีวิต และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่มากมาย 

ที่สำคัญคือเธอได้รับการยอมรับนับถือไปทั่วโลก แม้แต่โลกตะวันตกที่เคยมองข้ามเธอ และ COMME des GARÇONS ของเรย์จะไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้แน่นอน

AUTHOR

ILLUSTRATOR

จักรกฤษณ์ อนันตกุล

นักวาดภาพประกอบ ผู้ที่เคยเป็นซึมเศร้า แต่ได้รับชีวิตใหม่จากการติดตามพระเยซู ชีวิตนี้จึงรักการอ่านไบเบิล