นกก้อนหินที่บินทีละหลา : การโบยบินของ บินหลา สันกาลาคีรี หลังปีกชำรุด

Highlights

  • ในวาระหนังสือ คิดถึงทุกปี ของ บินหลา สันกาลาคีรี กลับมาพิมพ์ใหม่อีกครั้งเป็นครั้งที่ 9 โดยสำนักพิมพ์ KOOB เราจึงอยากชวนย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของบินหลาเมื่อปี 2559 อีกครั้ง
  • บทสัมภาษณ์ที่มีฉากหลังเป็นจังหวัดสงขลา เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขาพยายามสลัดอาการป่วยเพื่อกลับมาเขียนหนังสือซึ่งเป็นกิจกรรมที่เขารัก ซึ่งบทสนทนาที่เกิดขึ้นสะท้อนตัวตน ความคิด และความเชื่อ ของเขาบนเส้นทางวรรณกรรมได้เป็นอย่างดี

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ a day with a view นิตยสาร  a day 189 พฤษภาคม 2559

บินหลา คือชื่อนก

สันกาลาคีรี คือชื่อเทือกเขา

ส่วน บินหลา สันกาลาคีรี คือนามปากกาของวุฒิชาติ ชุ่มสนิท

ไม่แน่ใจว่าเป็นความจงใจหรือบังเอิญ ที่นิสัยของเขาพ้องพานกับลักษณะเฉพาะของที่มา

คล้ายนก–เขารักอิสระ ชอบเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ ใครสนิทสนมกับเขาดีย่อมรับรู้ถึงนิสัยอยู่ไม่ติดรัง ใครเคยอ่าน หลังอาน ซึ่งเล่าวีรกรรมการปั่นจักรยานจากเชียงใหม่มาเมืองหลวง คงสัมผัสได้ถึงวิญญาณรักการผจญภัย

และแม้ในวันนี้ที่ร่างกายบอบช้ำจากโรคภัย เขาก็ยังเฝ้าฝันถึงจุดหมายปลายทางที่เป็นไปได้

คล้ายภูเขา–เขาหนักแน่นในสิ่งที่เชื่อที่ชอบ เมื่อชายผู้ปักหลักลงลึกในสิ่งใด เขาถวายทั้งตัวทั้งหัวใจ อยากเป็นนักหนังสือพิมพ์เขาก็มุ่งมั่นจนได้เป็น อยากเป็นนักเขียนก็ยอมลาออกจากการงานมั่นคงมาอยู่บ้านเสกสร้างตัวอักษร

สนใจประวัติศาสตร์เขาก็ศึกษาจนอ่านศิลาจารึกได้ สนใจในความงามศิลปะเขาก็ยอมผ่อนซื้อกับศิลปินจนได้เป็นเจ้าของภาพเขียนของศิลปินแห่งชาติ เชื่อในงานนิตยสารวรรณกรรมเขาก็ยอมหยุดเขียนหนังสือ–ซึ่งเป็นลมหายใจของเขา มารับหน้าที่บรรณาธิการนิตยสาร ไรท์เตอร์ แม้รู้ทั้งรู้ว่านิตยสารที่ทำนั้นนับถอยหลังสู่วันปิดตัว

ในวาระครบรอบ 25 ปี ในวงการวรรณกรรมของชายผู้นี้ เราอยากชวนเขามารำลึกถึงแต่ละหลาที่โบยบินผ่านมา

 แต่จะคุยกับนกอย่างเขา เราอาจต้องออกบินตามหา

 

0.

เราพบกันเพราะหนังสือ
ในสถานการณ์ปีกขวาชำรุด ฤดูฝน 2014

ในงานหนังสือปี 2557 บินหลา สันกาลาคีรี หยิบตราประทับที่มีข้อความข้างต้นมากดทับบนหน้าแรกของหนังสือ คิดถึงทุกปี ที่มีชื่อของเขาอยู่บนปก

ผมมารู้เอานาทีนั้นว่ามือขวาของเขายังใช้การไม่ได้ หรือใช้การได้ก็ยังไม่เหมือนเดิม ขนาดเซ็นลายเซ็นง่ายๆ ข้อความสั้นๆ เขายังต้องพึ่งตราประทับ

“เป็นเรื่องดีที่จะบันทึกว่าปีนี้ผมทำอะไรไม่ได้ ผมใช้คำว่า ‘ปีกชำรุด’ เป็นตัวปั๊มที่ผมลงปีไว้ด้วย ตั้งใจว่าจะใช้แค่ปีเดียว แล้วผมจะเก็บมันไว้” บินหลาอธิบายที่มาของตราประทับนั้น

สาเหตุที่บินหลาขยับปีกขวาไม่ได้มีที่มาจากบ่ายวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม

วันนั้นเขาไปปั่นจักรยานตามคำชวนของเพื่อน ระยะทางราว 30-40 กิโลเมตร ถ้าเป็นสมัยหนุ่มๆ ระยะทางแค่นี้ถือเป็นขนมสำหรับเขา อย่าลืมว่าเขาปั่นจากเชียงใหม่ลงมากรุงเทพฯ จนเขียนหนังสือได้หนึ่งเล่มชื่อ หลังอาน แต่เขาในวัยปลายเลขสี่ ไม่ได้ออกกำลังกายมาสี่ห้าปี แถมยังดื่มหนัก แค่สิบกิโลฯ ก็ถือเป็นอุปสรรคสำหรับเขาแล้ว

หลังปั่นจักรยานถึงจุดหมายด้วยร่างกายบอบช้ำ วันรุ่งขึ้นตื่นเช้ามาบินหลาก็พบว่าร่างกายซีกขวาอ่อนแรง ช้อนหลุดร่วงจากมือในมื้อเช้าจนต้องใช้มือซ้ายตักอาหาร ก่อนจะล้มลงเมื่อลุกขึ้นเดินไปเข้าห้องน้ำ หลังนอนพัก เขาลองลุกขึ้นอีกครั้ง และก็ล้มอีกที

“ถ้านับจากเวลาที่เริ่มเกิดเหตุ ผมไปถึงโรงพยาบาลที่จังหวัดกาญจนบุรีตอน 2 ทุ่ม ถ้าผมรู้เร็วกว่านี้ ไปโรงพยาบาลเร็วกว่านี้ คงไม่หนักเท่านี้” บินหลาย้อนเล่าให้ผมฟังในวันหนึ่งหลังเหตุการณ์นั้นล่วงเลยมาแล้ว 2 ปี

เมื่อไปถึงโรงพยาบาล ร่างกายซีกขวาของเขาขยับไม่ได้ หมอวินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ

“ตอนนั้นตกใจว่า เราเป็นอย่างนี้แล้วเหรอ อายุเรายังไม่ถึงห้าสิบเลยนะ แล้วก็กลัวว่าถ้าผมหาย ผมจะทำยังไงกับชีวิตดี แล้วถ้าผมไม่หาย ผมจะทำยังไงกับชีวิตดี”

“ตอนนั้นไม่ได้กลัวความตายใช่ไหม”

“ผมไม่ได้รู้สึกว่าผมจะตายนะ ไม่ได้คิดเลย ผมรู้ว่าผมจะมีชีวิตอยู่อีกนาน แต่ถ้าผมทำอะไรไม่ได้เลย ผมจะมีชีวิตอยู่อีกนานไปทำไม”

 

1.

950 กิโลเมตร คือระยะห่างระหว่างกรุงเทพฯ กับสงขลา และระยะห่างระหว่างบินหลากับผม

ก่อนหน้านี้เรานัดหมายกันผ่านทางสัญญาณโทรศัพท์ เสียงจากปลายสายบอกว่า ตอนนี้เขาอยู่สงขลา ก่อนที่อีกสองสามวันอาจจะเดินทางต่อไปที่มะละกา ประเทศมาเลเซีย

อยากลองดูว่ายังเดินทางคนเดียวไหวไหม–บินหลาว่าอย่างนั้น

ครั้งล่าสุดที่ผมพบกับเขาคือในงานเสวนา ‘บินทีละหลาจนกว่าจะถึงดวงอาทิตย์’ ที่จัดในวาระครบรอบ 25 ปี ในวงการน้ำหมึกของเขา ณ ร้านหนังสือ The Writer’s Secret วันนั้นมิตรรักและนักอ่านมาเยือนกันแน่นร้าน บ่งบอกได้ว่าชื่อของเขายังคงไม่ถูกลืมเลือน

“คุณบินสายการบินอะไร ไฟลต์ไหน เดี๋ยวผมขับรถไปรับ” บินหลาเอ่ยประโยคที่ผมเองไม่กล้าเรียกร้อง

‘ขับรถไปรับ’ ในที่นี้คือขับจากตัวเมืองสงขลามาสนามบินหาดใหญ่ ไม่ไกลหรอกสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับบินหลาในวันนี้ ยอมรับว่าอดเกรงใจไม่ได้ แต่นั่นแหละ เมื่อเขาเอ่ยปาก ใครจะกล้าทำลายน้ำใจที่เขาหยิบยื่นให้ได้ลงคอ

ณ สนามบินหาดใหญ่, นิสสัน มาร์ช สีขาว เคลื่อนมาจอดตรงหน้า โดยมีบินหลานั่งอยู่หลังพวงมาลัยคนขับ หลังเอ่ยคำขอบคุณและทักทาย ผมก้าวขึ้นรถ ก่อนที่ยานพาหนะสี่ล้อจะพาเรามุ่งหน้าสู่ตัวเมืองสงขลา

จากบทสนทนาทำให้ผมรู้ว่าที่เขามาสงขลาครั้งนี้เพราะมีนัดตรวจอาการหัวใจและดวงตา เขาว่าต้องมาพบแพทย์ทุกๆ 3 เดือน แม้ร่างกายจะเริ่มดีขึ้น แต่แพทย์ทุกคนล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ หากยังอยากรักษาลมหายใจเอาไว้ เขาต้องหันมาออกกำลังกาย งดเหล้า งดบุหรี่ และงดอาหารที่เป็นแหล่งคอเลสเตอรอลทั้งหลาย

คำเตือนนี้สร้างความอึดอัดทรมานให้นักดื่ม นักชิม อย่างเขาไม่น้อย ดื่มหนักมาทั้งชีวิต รื่นรมย์กับรสชาติอาหารมาแต่ไหนแต่ไร จะให้มาหักดิบกันง่ายๆ ได้ยังไงคุณหมอ

“แต่ก่อนผมรู้อยู่แล้วว่าทุกอย่างต้องมีจุดจบ ตอนอายุ 30-40 ผมเชื่อว่า มนุษย์เราตอนเกิดพระเจ้ากำหนดมาแล้วว่า เอาขาหมูไปร้อยขา เอาเหล้าไปร้อยขวด เอาบุหรี่ไปพันคอตต้อน หรืออะไรก็แล้วแต่ ทุกคนได้มาตามนี้ บางคนใช้จนหมด บางคนใช้ไม่หมดแล้วก็ตายไป ซึ่งน่าเสียดาย ส่วนผมใช้จนหมดแล้วยังไม่ตาย แต่ปัญหาคือมึงใช้หมดแล้วนะ ขอให้รู้ว่ามึงหมดแล้ว ขาหมูที่มึงได้กินหมดแล้ว บุหรี่ที่มึงได้สูบหมดแล้ว ขอใครไม่ได้แล้ว ต้องอยู่โดยไม่มีแล้ว เราต้องปรับตัวให้ได้ ถ้าไม่เข้าใจก็เป็นเรื่องเศร้าเรื่องทุกข์ ถ้าเข้าใจก็จะผ่านชีวิตโดยปราศจากของพวกนี้ได้”

ภาวะจริงๆ ตอนนี้คือเราไม่มีทางเหมือนเดิม–บินหลาย้ำในห้องโดยสาร

เมื่อรถเริ่มเข้าเขตอำเภอเมืองสงขลา บินหลาเริ่มสวมวิญญาณนักเล่าอย่างที่เขาถนัด มิตรสหายต่างรู้ดีว่าเขาคือนักเล่าชั้นยอด ทั้งรอบรู้และมีชั้นเชิง รู้ว่าเล่ายังไงแล้วผู้ฟังจะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

บินหลาเกิดที่ชุมพร แต่ช่วงวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นเติบโตที่สงขลา เมื่อมีความทรงจำมากมาย เรื่องเล่าจึงมากตาม ขับรถผ่านร้านอาหาร ผ่านโรงเรียน ผ่านภูเขา ผ่านทะเล เขาขุดความรู้และความทรงจำเมื่อวันเก่ามาเล่าได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลานึกนาน

“คุณเป็นคนคิดถึงอดีตหรืออนาคตมากกว่ากัน” ผมถาม

ชายผู้ควบคุมพวงมาลัยนิ่งเงียบไม่นานก่อนตอบ “ผมเป็นคนไม่ลืมอดีตนะ ไม่คิดว่าอดีตเป็นเรื่องอดีต ผมคิดว่าอดีตมีไว้สำหรับทบทวน ถ้าถามผมว่าอะไรสำคัญกว่า สำหรับผมอนาคตสำคัญกว่าอดีต แต่อดีตมีส่วนช่วยในการไตร่ตรอง ในการสำรวจ ในการเลือกสรร เวลาที่เราต้องตัดสิน เราใช้อดีตตัดสินใจ อดีตคือประสบการณ์

“แล้วหลายอย่างคำตอบมันอยู่ที่อดีตนะ ไม่ได้อยู่ที่อนาคต”

 

2.

“นี่คือบ้านเก่าผม”

พร้อมกับเสียง บินหลาชี้ไปที่ห้องแถวหลังหนึ่งทางซ้ายมือ วันนี้ประตูสีเทาปิดสนิท ไม่บ่งบอกว่ามีใครอยู่อาศัยหรือถูกทิ้งร้าง

“ตอนนั้นประตูเป็นสีเขียว” เขาให้รายละเอียดเพิ่มเติม

บินหลาเติบโตในครอบครับชนชั้นกลางค่อนมาทางล่าง คุณพ่อรับราชการครู แม่เป็นแม่บ้าน มีรายได้ไม่มากจากการรับจ้างตัดเย็บและขายของเล็กๆ น้อยๆ

“ผมยังจำบทกลอนที่คุณพ่อเขียนให้ตัวเขาเองในวันเกิดได้ เขาเขียนในสมุดบันทึกแล้วผมบังเอิญไปเปิดอ่าน” เขานั่งนึกนิ่งๆ ไม่กี่วินาทีก่อนจะกล่าวกลอนบทนั้นอย่างไหลลื่น คำต่อคำ วรรคต่อวรรค 

อายุเราวันนี้ย่างสี่สิบห้า มีภรรยาหนึ่งนุชบุตรอีกสี่
รับราชการมาประมาณสิบเจ็ดปี คิดพีซีเต็มขั้นยศชั้นโท
เงินเดือนสามพันหกเศษแปดสิบ ไว้พอหยิบจับจ่ายไม่อักโข
พอเลี้ยงลูกเมียได้ไม่อดโซ สุนัขโตอีกตัวไม่อดตาย

“เงินเดือน 3,600 ของพ่อต้องแบ่งใช้ทั้งบ้าน เราไม่ใช่คนรวย ต้องมีงานการทำในบ้าน พี่สาวผมก็จะคอยซักผ้า ผมมีหน้าที่จ่ายกับข้าว วันไหนที่แม่ต้องดูแลน้องๆ แม่ไม่มีเวลาทำกับข้าว เราก็ต้องทำกับข้าวเอง เป็นหน้าที่เราที่ติดตัวมาตลอด เพราะฉะนั้นผมก็จะคุ้นกับการจ่ายตลาด คุ้นกับราคาของ คุ้นกับการเลือกซื้อปลา ซื้อวัตถุดิบ รู้ว่าของดีเป็นยังไง ของไม่ดีเป็นยังไง คือต้องรู้กระทั่งของไม่ดี เพราะบางวันเราไม่มีสตางค์พอเราก็ต้องซื้อของดีในกลุ่มที่ไม่ดี”

แม้จะไม่ร่ำรวยเงินทอง แต่บินหลาร่ำรวยหนังสือตั้งแต่เด็ก

ในวัยเยาว์ บ้านเขามีหนังสือเป็นพันเล่ม และการได้อ่านงานของศรีบูรพา, ยาขอบ, มนัส จรรยงค์, คึกฤทธ์ ปราโมช และ มาลัย ชูพินิจ ในวัยนั้นทำให้เขาฝันอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์

“ตอน มศ.3 ผมเริ่มขบถ ตอนนั้นผมไม่อยากเรียนแผนกวิทย์ เพราะผมรู้ว่าผมอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์ แต่คุณพ่อผมซึ่งเป็นครูสอนภาษาไทยเขาเชื่อว่าเด็กที่เรียนเก่งจะทำมาหาเงินได้ ต้องเรียนแผนกวิทย์ เพราะฉะนั้นเลยไม่ยอมให้ผมย้ายไปแผนกศิลป์ ย้ายชื่อผมกลับไปเรียนแผนกวิทย์โดยที่ผมไม่รู้ พอผมรู้ก็โกรธ แต่บ้านผมแย้งพ่อไม่ได้อยู่แล้ว เพราะพ่อเลี้ยงทุกคนในครอบครัว ถ้าเถียงกับพ่อคือมีเสียงเดียว สู้ไม่ได้

“ผมเลยเป็นนักเรียนแผนกวิทย์ที่ไม่เก่ง แล้วผมก็ไม่อยากเก่งด้วย เคมี ชีวะ ตกหมดเลย แต่ภาษาไทยผมได้เอตลอด  มีอยู่ปีหนึ่งไม่ได้เอเพราะว่าผมทะเลาะกับครู คือครูให้เขียนกาพย์ยานี 11 ซึ่งผมเขียนเป็นตั้งแต่ตอน ป.3 แล้ว ตอนผม มศ.4 อีก 10 ปีต่อมาครูให้ผมเขียนเรื่องเดิม ผมก็เบื่อ ไม่อยากเขียน ผมเขียนกาพย์ยานี 11 ให้เพื่อนทุกคนในห้องนะ ส่วนของตัวผม ผมเขียนอินทรวิเชียรฉันท์ 11 พูดง่ายๆ คืออวดดี แล้วพอครูอ่านก็หาว่าพ่อผมเขียนให้ ผมโกรธมาก รู้สึกว่าเป็นคำสบประมาท เป็นคำดูถูก ปีนั้นผมเลยร้องไห้เดินออกจากห้อง ไม่สอบ ซึ่งขนาดไม่สอบผมยังได้เกรดบี นั่นเป็นเทอมเดียวที่ผมไม่ได้เอ”

หลังเรียนจบชั้นอุดมศึกษา เขาต้องเลือกคณะและมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาต่อ ความฝันที่จะเป็นนักหนังสือพิมพ์ยังคงเข้มข้น คณะนิเทศศาสตร์จึงเป็นเป้าหมายแรกและเป้าหมายเดียว แต่โชคชะตาก็เล่นตลกกับมนุษย์เสมอ บินหลาก็ไม่ถูกยกเว้น

“ผมอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์มาก แต่ว่า มอ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่) ไม่มีวิชาหนังสือพิมพ์ ผมเลยต้องสอบบริหารธุรกิจ แล้วสอบได้ ผมก็สละสิทธิเพื่อที่จะไปเรียนหนังสือพิมพ์ แต่ที่บ้านไม่ยอมให้สละสิทธิเพราะสอบติดแล้ว พ่อก็จ้างผมโดยจ่ายเงินให้ 10,000 บาท ถือว่าสูงมากสมัยนั้น ผมใช้เงิน 10,000 บาทภายในเดือนเดียว เอาเงินไปเที่ยวเชียงใหม่กับเพื่อน กลับมาเหลือเงินไม่กี่พัน แล้วก็ไปอยู่ มอ. ผมรู้สึกไม่มีความสุขแต่ไม่รู้จะทำยังไง ผมก็เลยไม่เรียนหนังสือเลย ไม่เข้าเรียนและไม่เข้าสอบด้วย”

ไม่ต้องเดาว่าผลการเรียนจะเป็นยังไง เขาบอกว่าตัวเองคือคนที่ได้เกรดน้อยที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ก่อตั้งคณะ

0.00–มีใครน้อยกว่านี้ไหม

จดหมายแจ้งผลการเรียนถูกส่งไปที่บ้าน และเมื่อพ่อเปิดซองเขาก็ถูกพ่อโบยตีด้วยความเงียบ ใครเคยโดนคงรู้ว่ามันเจ็บปวดยิ่งกว่าไม้หน้าสาม

“พ่อผมโกรธผมมาก ไม่คุยกับผม ไม่คิดว่ามีผมอยู่ในบ้าน ผมเป็นอากาศธาตุ เมื่อไหร่ผมนั่งกินข้าวอยู่ พ่อก็จะเดินขึ้นข้างบนไป ถ้าผมอยู่ข้างบน พ่อก็จะเดินลงข้างล่าง เป็นเรื่องที่ผ่านมา 30 กว่าปี วันนี้ผมไม่ได้โกรธเขาแล้วนะ แต่ผมไม่มีวันลืมภาพนั้นเลย พ่อแม่ที่ลงโทษลูกขอให้รู้ว่าลูกมันจำนะ แล้วภาพนี้เป็นภาพที่เป็นรอยร้าว ประสานยังไงก็เป็นรอยอยู่ ทุกวันนี้ผมคุยกับพ่อ พ่อคุยกับผม แต่ภาพนี้ผมก็ยังไม่ลืม สำหรับผมเป็นการลงโทษที่แย่มาก”

ความเงียบระหว่างพ่อลูกถูกทำลายเมื่อชื่อ วุฒิชาติ ชุ่มสนิท อยู่ในรายชื่อผู้สอบติดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเขาเอนทรานซ์ใหม่อีกครั้งในปีถัดมา

“พ่อผมมีเครื่องพิมพ์ดีดอยู่เครื่องหนึ่ง ด้วยอาชีพ มันเป็นเรื่องเกินฐานะที่จะมีพิมพ์ดีดใช้ แต่พ่อก็เก็บเงิน ผ่อนซื้อพิมพ์ดีดเครื่องนี้มา เป็นเครื่องพิมพ์ดีดที่พ่อรักมาก แล้วตอนที่ผมสอบได้ สิ่งที่พ่อทำคือยกเครื่องพิมพ์ดีดเครื่องนั้นให้ผม แล้วพี่สาวผมมีกล้องถ่ายรูปอยู่ตัวหนึ่ง ก็ยกให้ผม” 

วันที่เข้ากรุงเทพฯ มาศึกษาต่อ นอกจากกระเป๋าเสื้อผ้าและกล่องหนังสือ บินหลาจึงมีสัมภาระเพิ่มเติมมาเป็นเครื่องพิมพ์ดีดและกล้องถ่ายรูป

และสองสิ่งหลังได้เสกสร้างอะไรไว้บ้าง วันนี้ใครๆ คงพอเดาได้

 

3.

บินหลาเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เขาเรียนไม่จบนั้นไม่ใช่ว่าสติปัญญาไม่ดี–บินหลาฉลาดแค่ไหนลองถามคนรู้จักเขาดู ไม่ใช่ว่าไม่ชอบสิ่งที่เรียน–อย่างที่บอก อาชีพนักหนังสือพิมพ์คือความใฝ่ฝันของเขา และยิ่งไม่ใช่ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา–การเรียนรู้แทบจะเป็นลมหายใจของเขาด้วยซ้ำ

แต่ที่เรียนไม่จบเป็นเพราะเขามัวเรียนรู้นอกห้องเรียน ตั้งแต่เข้าปีหนึ่งเขาเริ่มทำกิจกรรมอย่างบ้าคลั่ง ชั่วโมงเรียนในห้องเรียนแต่ละเทอมแทบนับนิ้วได้

“ทำไมไม่สามารถทำทั้งสองอย่างควบคู่กัน ทั้งทำกิจกรรมไปด้วย เรียนไปด้วย”

“ผมอาจจะเรียนอ่อนอยู่แล้ว อีกอย่างตอนอยู่ปี 1 ผมไม่รู้สึกอะไรเลยกับการลอกข้อสอบ คือผมลอกตั้งแต่มัธยมแล้ว ตอนปี 1 ผมก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอปี 2 มีอยู่วันหนึ่งอาจารย์ก็เดินเข้ามาในห้อง บอกว่าพวกคุณนี่ลอกกันจริงๆ เลยนะ ผมอยากรู้ว่าวันนึงพอพวกคุณจบไป คุณจะไปจับทุจริตใครได้ ในเมื่อพวกคุณก็ทุจริตทุกคน

“ผมตื่นเลย คือผมตั้งใจอยู่แล้วไงว่าผมจะไปเป็นนักหนังสือพิมพ์ จะไปจับทุจริตคน แล้วผมก็ทำทุจริตเอง ผมเลยรู้สึกว่าผมไม่ลอกอีกแล้ว และผมไม่ให้ใครลอกด้วย”

เมื่อไม่ลอกและไม่เข้าเรียน ก็สอบไม่ผ่าน เขาเรียนมหาวิทยาลัยจนถึงปี 6 ก่อนจะถูกรีไทร์ แต่เรื่องตลกร้ายคือ คนที่ไม่จบปริญญาอย่างเขากลับได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ หลังจากคว้ารางวัลซีไรต์ประจำปี 2548

“ผมถูกรีไทร์จาก 2 มหาวิทยาลัย คือ ม.สงขลานครินทร์ และจุฬาฯ แต่เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา ม.สงขลานครินทร์ ครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยจะทำหอจดหมายเหตุ จะบันทึกเรื่องศิษย์เก่าที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย เขาก็ขอประวัติผมไป มหาวิทยาลัยไล่ผมออกทั้งคู่ แล้วก็ชื่นชมทั้งคู่

“ผมรู้สึกว่าสังคมมันอย่างนี้แหละ พอคุณได้รับการยอมรับจากที่หนึ่ง คุณก็ได้รับการยอมรับจากอีกที่ตามมาด้วย เหมือนเวลาคนต่างประเทศชื่นชมคุณ คนไทยก็จะรู้สึกว่าคุณเด่นคุณดัง ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นแค่เรื่องที่คนต่างชาติหรือรางวัลเขาเห็นเราในมุมหนึ่ง คุณก็เลยต้องมองเราในมุมนั้นแล้วชื่นชมเราไปด้วย”

คุณเห็นด้วยไหมกับประโยคที่ว่าใบปริญญาไม่สำคัญ” ผมถามศิษย์เก่าดีเด่น

ผมว่าพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าคนอย่างผม ถ้าเรียนจบ ผมจะทำอะไรได้มากกว่าไม่จบ และผมก็เชื่อว่าคนอย่างพี่จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง) คนอย่างคุณสุทธิชัย หยุ่น ก็คล้ายๆ กัน คือไม่จบก็เพียงพอ แต่ถ้าจบ เขาจะมีอีกบางส่วน อีกมิติมากกว่าด้านที่คุณได้เห็น เช่น เมืองไทยคุณไม่รับคนที่ไม่จบปริญญาไปเป็นอาจารย์  แต่ถ้าผมได้เป็นอาจารย์ คุณจะได้เห็นความเก่งของผมในสาขาที่ผมสอนเด็ก ผมสร้างเด็กขึ้นมา แต่ผมไม่มีโอกาส

“ผมไม่ได้โหยหานะ โอเค ถ้าผมได้ปริญญาผมอาจจะได้ทำงานหลายอย่างที่ผมไม่ได้ทำทุกวันนี้ แต่เป็นเรื่องที่ผมว่าประสาทพอๆ กับเป็นเรื่องไร้ค่าที่จะมานั่งคิดว่า ถ้าจบจะได้อะไร เพราะเราก็ไม่รู้ว่าเราจะเสียอะไร”

แม้จะเรียนไม่จบ แต่ชีวิตในช่วงมหาวิทยาลัยเขาได้พบและเรียนรู้อะไรหลายอย่าง ไม่ได้ว่างโหวงอย่างคนไร้การศึกษา และหนึ่งในการค้นพบครั้งสำคัญคือตอนที่ได้ทำงานที่ ไปยาลใหญ่

“ที่ ไปยาลใหญ่ มีแต่คนฉลาด คนมีปฏิภาณ ไหวพริบดี อำเก่ง ผมเป็นคนที่ไม่มีคุณสมบัติทุกอย่างเลย ปฏิภาณช้า ไหวพริบช้า อำไม่เก่ง ผมเป็นคนตลกน้อยที่สุด ผมเลยได้เรียนรู้จากพวกเขา เรื่องอารมณ์ขันผมก็พยายามสร้างขึ้นมา สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง นั่นคือประโยชน์ที่ผมได้รับ

“แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือผมได้รู้ว่า ต่อให้ผมสร้างขึ้นมาได้ มันก็ไม่ใช่ธาตุแท้ของผม ความตลกมันเป็นสิ่งที่ผมสร้างขึ้นมา ไม่ใช่ธาตุแท้ ไม่ใช่จิตวิญญาณ ไม่ได้หลั่งไหลออกมาเหมือนพวกเขา ในที่สุดผมเลยเลิกสร้าง หันไปหาสิ่งที่ผมมีความสามารถแล้วพัฒนา ผมว่าเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้ผมชัดเจนในตัวเองจนถึงทุกวันนี้”

“แล้วธาตุแท้ของคุณคืออะไร”

“ดราม่า” บินหลาตอบทันที “เวลาผมมองอะไรผมจะมองไปถึงจุดจบ มองแล้วจินตนาการว่าจะจบยังไง ส่วนธาตุแท้อีกอย่างที่ผมมีคือธาตุแท้ของคนหนังสือพิมพ์ ผมคิดว่าผมคือคนหนังสือพิมพ์ก่อนจะทำงานหนังสือพิมพ์อีกนะ เพราะผมอ่านงานของนักหนังสือพิมพ์มาเยอะ ผมเห็นชีวิตเขาอยู่เคียงข้างคนจน ผมเลยรู้สึกว่านักหนังสือพิมพ์ต้องอยู่เคียงข้างจน หนังสือพิมพ์ถึงมีคุณค่าที่จะอยู่

“พอผมเป็นนักหนังสือพิมพ์ผมเลยรู้สึกว่าผมทำงานง่ายมาก เพราะผมรู้อยู่แล้วว่าต้องทำยังไง”

 

4.

ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ของบินหลาเริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์มติชน ด้วยฝีไม้ลายมือและแพสชั่น ทำให้เขาได้งานในทันทีหลังจากฝึกงานจบตอนปี 4

ได้งานทั้งที่ยังไม่มีใบปริญญา

“เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มติชน 3 ปี เหมือนฝันไหม” ผมชวนเขาย้อนมองวันวาน

“ไม่มีอะไรที่เลวร้าย เป็นชีวิตที่มีความสุขกับการได้ทำงานมาก ความสุขก็มาจากการเดินทาง จากการเป็นนักข่าว ได้รู้ได้เห็นอะไรเยอะ ในช่วงนั้นมีข่าวที่ยุโรป เป็นทริปที่ไปเบลเยียม ฮอลแลนด์ เยอรมนี และฝรั่งเศส เขาก็ส่งผมไป จนกระทั่งทำข่าวเสร็จผมยังไม่อยากกลับ เลยแฟกซ์ใบลาพักร้อนมา แต่เขาบอกว่าไม่ได้ คุณไปเที่ยว เอาเปรียบคนอื่นเขา ผมเลยแฟกซ์ใบลาออกมา ตอนที่ลาออกผมกะว่าเดี๋ยวกลับไปจะเป็นนักเขียน เราจะอยู่ได้ด้วยการเขียนหนังสือ”

การลาออกโดยฉับพลัน ไร้การวางแผน ทำให้เขาค้นพบว่าตัวเองเขียนหนังสือขณะท้องหิวและต้องกังวลกับจำนวนธนบัตรในกระเป๋าสตางค์ไม่ได้

“ตอนนั้นผมเช่าห้องเขียนหนังสืออยู่แถวบางกรวย เขียนไปด้วยคิดไปด้วยว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเช่าบ้าน ไม่ง่ายเลย ทำไม่ได้”

บินหลากลับมาทำงานประจำอีกครั้ง เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร ไปยาลใหญ่ อยู่ 1 ปี

ก่อนที่ช่วงปลายปี 2533 จะกลับสู่มติชนอีกครั้งในฐานะหนึ่งในทีมผู้บุกเบิกหนังสือพิมพ์ ข่าวสด เขาว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่พลังชีวิตเยอะมาก ได้เป็นหัวหน้าข่าวหลากหลายโต๊ะ ชนิดที่เราเดาไม่ออกว่าคนอย่างบินหลารู้เรื่องเหล่านั้นด้วยหรือ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าข่าวสายพระเครื่อง หัวหน้าข่าวภูมิภาค หัวหน้าข่าวสืบสวน หัวหน้าข่าวสตรี หรือหัวหน้าข่าวบันเทิง

“ข่าวสดตอนนั้นมีอยู่ 4 คน มีพี่สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน บรรณาธิการ ข่าวสด ทุกวันนี้ แกคือเหยี่ยว มองไกล ตาแหลม เห็นว่าอะไรคือประเด็นข่าว จิกแล้วอยู่เลย สองคือ พี่วรศักดิ์ ประยูรศุข เหมือนนกฮูก เป็นขุมความรู้ เขารู้ทุกเรื่อง เป็นคนที่รอบรู้ ถ้าไม่รู้ก็บอกได้ว่าต้องไปหาข้อมูลที่ไหน แล้วก็มีพี่ฐากูร บุนปาน เหมือนม้า ขยัน ควบได้ไม่หยุด ทำแล้วก็ไม่บ่น สนุกกับงาน บ้าคลั่งมาก สามคนคือ เหยี่ยว นกฮูก ม้า จำเป็นต้องมีในองค์กร แล้วคนที่ 4 คืออะไหล่ ผมคิดว่าผมคือหมี คือไม่เหมือนเสือนะ แต่ก็มีเขี้ยวเหมือนกัน ไม่เหมือนคนแต่ก็เดินได้สองขา พูดง่ายๆ คือทำได้ทุกอย่าง อาจจะไม่ดีเท่าเสือ ไม่ดีเท่าลิง ไม่ดีเท่าหมา แต่ทำแทนได้หมด”

งานหนึ่งที่สร้างชื่อและแสดงให้เห็นถึงกึ๋นของเขาคือเมื่อครั้งราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ล้มป่วย

“สำหรับผม นักข่าวบันเทิงเป็นนักข่าวที่ไม่ได้ถูกฝึกให้คิด จ่อไมค์ถามแล้วก็เอาไปลง แต่ปัญหาคือผมต้องไปคุมข่าวบันเทิง ผมก็ต้องพยายามกระตุ้นให้นักข่าวรู้สึกว่า ถ้าเรามุ่งมั่นจะพัฒนา เราทำได้ ผมต้องการให้นักข่าวมีมุมมองที่พัฒนา นักข่าวบันเทิงต้องเขียนหนังสือได้ ต้องเข้าใจประเด็น ไม่ใช่จ่อไมค์แล้วให้เขาพูด”

หัวหน้าอย่างเขาใช้โอกาสนี้พัฒนาทักษะนักข่าวสายบันเทิงในมือ โดยมอบหมายให้ไปคิดประเด็น และลงพื้นที่สัมภาษณ์แหล่งข่าวรอบด้าน ทั้งตัวพุ่มพวงเองและผู้คนที่เกี่ยวข้อง จนได้เทปมาราวสิบม้วน

หลังจากพุ่มพวง ดวงจันทร์ จากไป เขาจึงกดปุ่มเพลย์ฟังเทปทั้งหมด ก่อนจะนำมาเรียบเรียงเป็นสกู๊ปเรื่องเบื้องหลังการเสียชีวิตลงหนังสือพิมพ์ ข่าวสด และเขียนเป็นนิยายลง มติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งภายหลังได้รับการรวมเล่ม

นิยายเล่มนั้นชื่อ ดวงจันทร์ที่จากไป และนั่นคือครั้งแรกที่เขาใช้นามปากกา บินหลา สันกาลาคีรี

“ที่ข่าวสดผมได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การใช้งานคน การเชื่อใจคน สนุกกับงานแนวใหม่ วิธีคิดแบบใหม่ เป็นโลกใหม่ ผจญภัยมาก ตอนนั้นเรากลับดึกทุกวัน เพราะเราสนุก เราเมา หลังจากเที่ยงคืนหนังสือพิมพ์ออก เราก็ดื่มกับพี่ๆ นักข่าว จนเหนื่อยก็กลับไปนอน เช้ามาก็ทำงาน

“เราไม่ได้ทำงานเพราะเราบ้างาน แต่เราทำงานเพราะเราบ้าชีวิต ชอบชีวิตอย่างนั้น”

5.

“ตอนนี้เริ่มหัดเขียนหนังสือแล้ว”

บินหลาตอบด้วยน้ำเสียงผ่อนคลายเมื่อผมถามถึงชีวิตประจำวันปัจจุบัน

ฟังดูคล้ายเรื่องล้อเล่น เหมือนเป็นอารมณ์ขันของเขามากกว่า นักเขียนรางวัลซีไรต์อย่างเขาน่ะหรือต้องเริ่มหัดเขียนหนังสือ

“ต้องหัด หัดให้พร้อม ทำตัวให้พร้อม ผมเคยนอนสี่ทุ่ม ตื่นตีสี่ เขียนหนังสือทุกวัน แล้วผมหยุดเขียนไปทำนิตยสาร ไรท์เตอร์ ตอนนี้เริ่มเหลวไหล นอนดึก ตื่นสาย ไม่เหมาะกับการเขียนหนังสือ ต้องกลับไปทำตัวเองใหม่ ตอนนี้ส่วนใหญ่อยู่กับการแอ็กติ้งมากกว่า ลองดูว่าแสงไฟได้ไหม อาหารเช้าได้ไหม หุงข้าวยังไง การเขียนยังไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่เป็นการเตรียมเพื่อกลับไปอยู่ในสภาวะที่พร้อมจะเขียน ต้องทำให้เป็นชีวิตประจำวันให้ได้”

ตั้งแต่ลาออกจากหนังสือพิมพ์ ข่าวสด เมื่อปี 2538 บินหลาก็บอกลาวิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือน ใช้ชีวิตเป็นนักเขียนอย่างที่ฝันเต็มตัว โดยครั้งนี้มีการเตรียมการณ์อย่างดี เขานำเงินจากการขายหุ้นที่ได้มาเมื่อครั้งทำหนังสือสือพิมพ์ ข่าวสด ไปซื้อที่ดินที่เชียงใหม่ และทาวน์เฮาส์หลังเล็กๆ ไว้อยู่อาศัย เขียนหนังสือ

การย้ายไปอยู่เชียงใหม่ทำให้บินหลามีโอกาสได้ใกล้ชิดพญาอินทรีแห่งสวนอักษร เขาคือคนที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ไว้ใจให้เป็นผู้ขับรถรับ-ส่งจากสวนทูนอินไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ

“แกแนะนำตลอด แต่ไม่ได้แนะนำว่าเขียนอย่างนี้สิ เขียนแบบนี้สิ สำหรับผมการเขียนอาศัยทักษะ 2 ทักษะ คือทักษะการเขียน และทักษะการใช้ชีวิต ทักษะการเขียนเป็นเรื่องแนะนำได้ แต่ทักษะการใช้ชีวิตคุณต้องไปลุยด้วยชีวิตจริง ถ้าไม่ใช้ชีวิต มันสอนกันไม่ได้”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ จากเล่มแรก–ฉันดื่มดวงอาทิตย์ จนถึงเล่มล่าสุด–คนรู้จัก บินหลาเขียนหนังสือไปแล้ว 24 เล่ม และคว้ารางวัลที่ได้รับการยอมรับสูงสุดในวงการวรรณกรรมไทยอย่างซีไรต์มาครองเมื่อปี 2548 จากหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ เจ้าหงิญ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตเขา

“คุณคาดหวังก่อนไหมว่าจะได้รางวัลซีไรต์”

“ผมเขียน เจ้าหงิญ ก่อนประกาศซีไรต์ 2 ปี และใช้เวลา 6 ปีในการเขียน ถ้าผมใช้เวลา 6 ปีเพื่อคาดหวังรางวัลซีไรต์ ผมว่าเป็นบ้าแล้ว ผมใช้เวลา 6 ปีคาดหวังว่าผมจะทำงานที่ดีที่คนรู้จักเล่มหนึ่ง แล้วที่เหลือก็เรื่องของมัน การได้ซีไรต์ผมรู้สึกดี ภูมิใจ เป็นเกียรติ แต่มันก็แค่นั้นแหละ”

ที่ผ่านมารายได้หลักที่หล่อเลี้ยงปากท้องและลมหายใจของบินหลามาจากการเขียนหนังสือและตระเวนบรรยาย แต่ก็ไม่ได้มากมายจนถึงขั้นเป็นเศรษฐี แม้ เจ้าหงิญ หนังสือของเขาที่ได้รางวัลซีไรต์ประจำปี 2548 จะพิมพ์กว่า 200,000 เล่มก็ตาม

“ตอนเป็นนักศึกษาผมคิดว่าผมเป็นคนเก่งที่สุด ผมได้งานตั้งแต่ผมยังเรียนไม่จบ ได้เงินเดือน 3,000 บาท ซึ่งมากพอสำหรับผม แต่ในสิ้นปีนั้น นิสิตรุ่นเดียวกับผมที่เรียนโฆษณา ไม่ต้องเก่งมาก เงินเดือนเขาประมาณ 30,000 สำหรับผม ผมก็อยากได้ 30,000 ไม่ได้อยากได้แค่ 3,000 แต่ว่าค่าตอบแทนที่เขามีให้ในโลกหนังสือพิมพ์นั้นได้แค่นี้ ซึ่งช่วยไม่ได้

 “ทุกวันนี้เพื่อนผมที่เป็นข้าราชการหรือเป็นอะไรก็ตามก็มีรายได้ค่อนข้างสูง บางคนอาจจะเกินครึ่งแสนไปแล้ว หลายคนอาจจะถึงแสน หรือมากกว่านั้น แต่ผมก็มีความสุขกับจำนวนเงินที่ผมได้รับในวันนี้ เพราะมันเป็นอาชีพที่ผมเลือกเอง แล้วผมก็มีความสุขกับอาชีพ และรายได้ที่ผมได้รับก็เพียงพอที่จะทำให้ผมไม่ลำบากมากนัก”

เงินน้อยทำไมยังทำ–ผมนึกสงสัยในใจ และคล้ายบินหลาได้ยิน

“ถ้าเทียบกับคนอื่นมันก็น้อยเกินไป แต่ผมว่าสิ่งที่โลกหนังสือให้กับคนทำหนังสือบางทีมันก็มากกว่าเงิน บางทีมันก็เป็นสิ่งที่อาชีพอื่นไม่ได้ให้ และให้ไม่ได้ ทั้งความเคารพนับถือ เกียรติยศ ทั้งความเชื่อมั่นที่คนในสังคมมีต่อเรา บวกกันหลายๆ อย่าง เป็นสิ่งที่เราชอบทั้งหมด”

“วันก่อนคุณบอกว่าชีวิตเราเกิดมาถูกกำหนดไว้แล้วว่า กินขาหมูได้ร้อยขา ดื่มเหล้าได้ร้อยขวด สูบบุหรี่ได้พันคอตต้อน แล้วคุณว่าชีวิตตัวเองถูกลิขิตมาให้เขียนหนังสือได้กี่เล่ม” ผมถามนักเขียนตรงหน้า

บินหลานิ่งคิดก่อนตอบ “ตอนผมเด็กๆ ผมคิดอยากเขียนหนังสือสักร้อยเล่ม พอโตขึ้นก็ลดเหลือห้าสิบเล่ม จนมานาทีนี้ ผมอยากเขียนหนังสือแค่สองเล่ม สองเล่มที่ผมได้ดั่งใจ สองเล่มที่ดีจริงๆ หนังสือทุกเล่มที่ผ่านมาเป็นงานฝึกหัด ไม่ใช่งานที่เขียนได้ดั่งใจจริงๆ สำหรับผมมันคือการฝึก ทั้งหมดที่ผมเขียนมาเพื่อจะเขียนสองเล่มนี้ ตอนนี้มีพล็อตหมดแล้ว อยากเขียนออกมาให้เสร็จเร็วๆ

“แต่ไม่ใช่ผมเขียนสองเล่มแล้วผมจะตายนะ ผมจะเขียนสองเล่มแล้วผมพอใจกับมัน ส่วนผมจะเขียนหรือไม่เขียนอะไรอีกต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องแล้ว”

 

6.

ข้าพเจ้า “รัก” คำว่า “คิดถึง”
และมักจะ “คิดถึง” คำว่า “รัก”

ประโยคนี้ปรากฏเห็นเด่นชัดบนหน้าปกหนังสือ คิดถึงทุกปี

ใครตามอ่านงานนวนิยายของเขาเสมอมาจะพบว่าเขาเขียนถึงความรักได้อย่างละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง ราวกับเข้าใจมันเป็นอย่างดี จัดการสิ่งนามธรรมนี้ได้อยู่มือ

บินหลาบอกว่าเรื่องที่เขาสนใจ หยิบจับมาเป็นประเด็นหลักในนวนิยายมีอยู่ 2 เรื่อง

หนึ่ง–ความรัก สอง–คือความยุติธรรม

“มีแค่สองเรื่องนี้เท่านั้นแหละ แต่ปัญหาคือสองอย่างนี้เป็นขั้วตรงข้ามกัน คือในความรักไม่มีความยุติธรรม ถ้าคุณชอบคนนี้คุณก็ชอบคนนี้ ไม่ใช่คนนี้ดีกว่าคุณจึงชอบ ไม่เกี่ยวกับความดีเลย เกี่ยวกับความรักอย่างเดียว แล้วตรงกันข้าม ในความยุติธรรมก็ไม่มีความรัก ถ้าคุณจะเลือกว่านาย ข ผิด คุณก็เลือกที่ความผิด ไม่ได้เลือกเพราะคุณรักนาย ก นาย ข จึงผิด

“แต่คนชอบเอาสองเรื่องนี้มาปนกัน มาผสมกัน เรื่องที่คุณต้องใช้ความยุติธรรมเป็นตัวตัดสินคุณเอาความรักเป็นตัวตัดสิน เรื่องที่คุณต้องเอาความรักเป็นตัวตัดสิน คุณเอาความยุติธรรมมาเป็นตัวตัดสิน คุณก็เลยเจอทุกอย่างที่มันผิดเพี้ยนไปหมด สำหรับผม สองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์”

“แล้วนักเขียนที่เขียนเรื่องความรักอย่างคุณเคยอกหักจนทำงานไม่ได้ เขียนหนังสือไม่ไหวบ้างไหม” ผมถาม

“เคยมี ตอนที่ผมไปอินเดีย ตอนนั้นผมมีแฟนอยู่แล้ว แต่ผมไม่ได้คิดถึงเขาเลย ช่วงนั้นผมเขียนเรื่อง คิดถึงทุกปี แต่ไม่เกี่ยวกับแฟนที่อยู่ในภาวะนั้นเลย ผมกลับคิดถึงหญิงสาวอีกคนหนึ่งมาก ผมเลยตั้งใจว่ากลับไปจะขอเลิกกับแฟน

“พอกลับมาไทย ยังไม่ทันบอกเลิกกับแฟน ผมก็พบว่าแฟนผมมีผู้ชายอีกคนหนึ่งอยู่แล้ว จากผมที่ควรจะสบายใจ ไม่ต้องบอกเลิก ไม่ต้องรู้สึกผิด กลายเป็นคนอกหักเลย กลายเป็นว่าผมรักเขามากเลย นี่อาจจะเป็นความเลวของผมก็ได้ ช่วงนั้นผมขึ้นไปอยู่เชียงใหม่แล้ว แต่ผมทำอะไรไม่ได้เลย มันแย่มากๆ ลงมากรุงเทพฯ เขาก็ไม่ไปไหนกับผม ไปไหนก็ไม่มีเพื่อนไปด้วย ช่วงนั้นผมเฟลมาก ผมจำได้ว่าผมต้องโทรศัพท์ทางไกลไปคุยกับเพื่อนบางคน คุยแบบไม่รู้เรื่องเลย เดือนนั้นค่าโทรศัพท์ผมเป็นหมื่น ผมโทรแบบไร้สติ จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าผมคุยอะไรไปบ้าง แต่จำได้ว่าไม่น่าจะมีอะไรที่สำคัญ”

“วรรณกรรม บทกวี เกี่ยวกับความรักที่อ่านมาทั้งชีวิตเยียวยาเราไม่ได้เลยหรือ”

“ผมเองเขียนเรื่อง คิดถึงทุกปี เข้าใจว่าผมเขียนเรื่องความรักดีที่สุดแล้ว คนอ่าน คิดถึงทุกปี เขาก็คงรู้สึกว่า ผมเข้าใจความรักดีฉิบหาย แต่ผมพบว่าพอมีความรักที่มันซ้อนขึ้นมา ผมหงายหลังเลย”

“จริงๆ แล้วคุณแตกฉานในเรื่องความรักหรือเปล่า” ผมถามชายโสดวัย 51

“ผมไม่แน่ใจหรอก ผมก็ไม่รู้ว่าผมแตกฉานหรือไม่แตกฉาน แต่ผมเข้าใจว่าความรักกับการแต่งงานเป็นคนละเรื่องกัน คุณมีความรักคุณก็มีไป คุณจะแต่งงานคุณก็แต่งไป

“ทุกวันนี้เวลาเจอเพื่อนสมัยมัธยม ทุกคนก็จะมีลูกแล้ว เขาก็จะงงว่า ผมอยู่ยังไง ถ้าหาแฟนไม่ได้เดี๋ยวช่วยหาให้ ซึ่งมีเยอะมาก แล้วเป็นเรื่องยากที่จะไปอธิบายกับคนพวกนั้นว่า การเป็นคนโสดไม่ใช่เป็นคนไม่มีความรัก โสดกับมีความรักเป็นคนละเรื่องกัน และการแต่งงานกับมีความรักก็คนละเรื่องกัน”

แม้จะไม่ได้แต่งงาน แต่บินหลาบอกว่าตัวเองไม่ได้ปราศจากความรักและคนรัก ตรงกันข้าม เขามีคนรักต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงตอนนี้

“ผมรักคนเร็ว มีรักที่เร็ว แต่ผมเป็นคนที่ตระหนักค่อนข้างมากเรื่องความรักและการแต่งงานกับผู้หญิงสักคน เป็นเรื่องที่ผมเถียงกับตัวเองว่าใช่ไม่ใช่ คือใช้เวลาตรวจสอบ แล้วก็ให้เขาตรวจสอบผมด้วย”

“การรักคนง่ายเป็นปัญหากับการใช้ชีวิตไหม”

“ผมก็ตั้งคำถามว่ามันมีปัญหากับชีวิตหรือเปล่า เอาเป็นว่า ถ้ามันมีปัญหาผมก็ไม่รู้ล่ะ ผมขี้เกียจรับรู้” สิ้นคำตอบเขาหัวเราะเสียงดัง

 

7.

“ผมขออะไรคุณอย่างเดียว”

บินหลาเอ่ยประโยคนี้ตั้งแต่เมื่อวันแรกที่เราพบหน้า

ทันทีที่ได้ยินยอมรับว่าเดาไม่ถูก คนอย่างบินหลาจะเรียกร้องเอาอะไร และผมจะให้ในสิ่งนั้นได้ไหม

“ถ้าผมเลี้ยง คุณห้ามปฏิเสธ” บินหลาเฉลยคำขอ

“คุณยังมีเวลาจ่ายอีกเยอะ ผมมีเวลาจ่ายน้อย” เขาอธิบาย “ตอนนี้ผมอยู่คนเดียว ลูกไม่ต้องเลี้ยง เมียไม่ต้องเลี้ยง พ่อแม่ไม่ต้องเลี้ยง ไม่มีใครที่ผมต้องเลี้ยงเลยจริงๆ คุณเก็บเงินเอาไปจ่าย เอาไปเลี้ยงคนอื่นต่อ แล้วบอกว่า ให้เขาเลี้ยงรุ่นต่อไป นั่นสำคัญที่สุด ตอนเด็กๆ เคยมีรุ่นพี่เลี้ยงผม ตอนนั้นผมไม่มีเงินกินข้าวเลย เขาบอกว่ามึงไม่ต้องตอบแทนกู แต่ถ้ามึงมีตังค์กินข้าว มีตังค์ซื้อกับข้าว มึงก็เลี้ยงน้องบ้าง แล้วก็สอนให้น้องเลี้ยงรุ่นต่อไป”

ได้ยินอย่างนั้นก็ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะสัตย์ซื่อต่อถ้อยคำที่ได้รับการส่งต่อมาอย่างเขาหรือเปล่า

ทุกครั้ง ทุกขวด ทุกวง ทุกที่ ทุกบาททุกสตางค์ เขาเป็นคนจ่าย’ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เขียนถึงเพื่อนไว้ในคำนำหนังสือ คนรู้จัก ว่าอย่างนั้น

เงินมีไว้ใช้ ไม่ได้มีไว้ชื่นชม–บินหลายืนยันคำนี้หนักแน่น      

อาจไม่ถูกต้องนักในมุมมองของนักออมเงิน และหากย้อนมองผมก็รู้สึกว่าถ้าเขาเห็นแก่ตัวกว่านี้ ไม่เลี้ยงดูน้องนุ่งมากมายขนาดนี้ รู้จักเก็บออมมากกว่านี้ วันนี้เขาอาจสบายกว่านี้ แต่นั่นแหละ เขาชอบแบบนี้ เขาเชื่อแบบนี้ และมีความสุขดีกับวิถีเช่นนี้

หากเราเอารายจ่ายตลอดชีวิตของบินหลามาแผ่กาง จะพบว่ารายจ่ายส่วนหนึ่ง–ซึ่งอาจเป็นส่วนใหญ่หมดไปกับของสะสมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมีดโบราณ หนังสือโบราณ จักรยานโบราณ ไปจนกระทั่งงานศิลปะที่ทุกชิ้นเขาซื้อด้วยเงินผ่อน เขาเชื่อว่า ไม่ได้มีแต่เศรษฐีหรอกที่มีโอกาสเข้าถึงความงาม นักเขียนอย่างเขาก็เข้าถึงได้เช่นกัน

และในวันสุดท้ายที่ผมอยู่ที่สงขลา บินหลาก็เล่าบางเรื่องราวที่เขาบอกว่า “ไม่เคยเล่าให้ใครฟัง”

“ผมเคยมีจักรยานรุ่นเก่าๆ เกือบร้อยคัน ตอนนี้ผมไม่รู้ว่าเหลือกี่คัน มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมสนใจจักรยานมาก พอมีความรู้ก็มีความสนุก พอมีความสนุกผมก็เริ่มมีความโลภ มันเป็นเส้นบางๆ มากระหว่างความรักกับความโลภ พอมีความโลภก็เริ่มไม่สบาย ไม่มีความสุขกับการสะสม

“มีวันหนึ่งเมื่อราวสิบปีที่แล้วผมไม่อยู่บ้าน บ้านผมที่เชียงใหม่ถูกงัด บ้านผมติดกับโรงเรียนสอนคนหูหนวก มีคนมาแจ้งผมว่าเห็นเด็กหูหนวกเข้าไปในบ้านผมหลายสิบคน นาทีนั้นผมใจหายวูบ ผมไม่กล้าไปดูบ้านเลย เพราะผมเข้าใจว่ามันคงถูกรื้อค้นมากมาย แล้วของที่ผมหาซื้อมาด้วยความยากลำบากคงหายหมด จนสัปดาห์ต่อมา ครูที่โรงเรียนคนหูหนวกต้องมาเตือนให้ผมไปดูบ้าน เพราะตำรวจให้มาแจ้งความ ไม่อย่างนั้นจะเอาผิดไม่ได้ ผมเลยเข้าไปดูบ้าน ไปด้วยความทุกข์”

เมื่อกลับไปถึงบ้าน บินหลาพบว่าของที่คาดว่าจะหายกลับยังอยู่ครบถ้วน วงล้อ โครงรถ ยังวางอยู่ที่เดิม ที่หายไปมีเพียงดวงไฟแต่งรถราคา 5 บาท 10 บาท เครื่องฉายสไลด์ และกระเป๋าเดินทาง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เขารู้สึกเสียดายอะไร

“ผมถอนหายใจโล่ง แล้วผมก็บอกว่าโชคดีที่คนงัดบ้านผมเป็นแค่คนบ้าใบ้ถึงไม่เอาของดีไป เอาของไร้สาระไป

“แต่หลังจากนั้น วันนึงผมก็กลับมานั่งคิดว่า ใครกันแน่ที่บ้าใบ้ ใครกันแน่เอาของไร้สาระ หรือว่าเป็นเราที่แบกของไร้สาระ หรือว่าเป็นเราต่างหากเป็นคนบ้าใบ้ แบกอะไรก็ไม่รู้ จักรยานคันเดียวก็เพียงพอที่จะใช้กับชีวิตประจำวัน คุณจะมีทำไมตั้งหลายสิบคัน คุณกลายเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ คุณกลายเป็นคนที่ครั้งหนึ่งคุณเคยเกลียด ทุกวันนี้มึงเป็นเองไม่ใช่เหรอ คนที่พยายามเก็บ พยายามโชว์ พยายามบอกว่ากูมีคนเดียวในประเทศไทย ผมตาสว่างเลย หลังจากนั้นผมก็ไม่สนใจเลย ผมก็เอาจักรยานที่ผมมีไปฝากเพื่อนเก็บไว้ในโกดัง ตอนแรกที่คิดว่าจะทำพิพิธภัณฑ์ ผมก็ไม่สนใจอีกเลย

“ครูที่โรงเรียนหูหนวกเขาก็เครียด เพราะว่ามีตำรวจเข้าไปสอบสวน ผมกลับไปที่โรงเรียน เขาหาของมาคืนผมเท่าที่จะคืนได้ ผมบอกครูว่า ผมยกให้โรงเรียนหมดเลย เด็กอยากได้เครื่องฉายสไลด์ ก็เอาเครื่องฉายสไลด์ไป เดี๋ยวผมหาสไลด์มาให้ฉายดูด้วย และผมไม่แจ้งความ ไม่เอาผิด

“เด็กๆ ทำให้ผมเห็นภาพบางภาพ ผมขอบคุณนะครับ”

 

8.

หลังจากเราแยกย้ายกันที่สงขลา เขาเปลี่ยนเป้าหมายจากมะละกาเป็นปีนัง และทดลองออกเดินทางอีกครั้ง ส่วนผมเดินทางกลับกรุงเทพฯ มาสะสางงานการที่คั่งค้าง

คล้อยหลังไม่ถึงสัปดาห์ ผมพบเขาอีกครั้งที่ร้าน The Writer’s Secret กรุงเทพฯ โดยไม่ได้นัดหมาย     

ด้านบนของร้านหนังสือแห่งนี้เคยเป็นสำนักงานของนิตยสาร ไรท์เตอร์ นิตยสารว่าด้วยแวดวงวรรณกรรมที่เขาชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้งเป็นรุ่นที่ 3 ถัดจาก ยุคของ ขจรฤทธิ์ รักษา และ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

งานแถลงข่าวเปิดตัวการกลับมาของนิตยสาร ไรท์เตอร์ เมื่อปลายมีนาคม 5 ปีที่แล้ว ผมเป็นหนึ่งในสักขีพยาน จำได้ว่าวันนั้นสีหน้าและแววตาของบินหลาเปี่ยมไปด้วยพลัง

เช่นเดียวกัน ในวันที่แถลงข่าวปิดตัวนิตยสาร ไรท์เตอร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมก็อยู่ในเหตุการณ์

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นน้ำตาของชายชื่อบินหลา

ไม่ได้เสียใจกับการปิดตัวของนิตยสารแต่อย่างใด เขาเพียงเล่าบางเรื่องราวที่กระทบหัวใจแล้วกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

ไรท์เตอร์ มีอุปสรรคตั้งแต่เริ่มทำเลยนะ” บินหลาบอกความในใจ “ที่ผิดพลาดอย่างหนึ่งคือผมมีความพร้อมน้อยกว่าที่ควร พูดง่ายๆ คือมันไม่ได้เกิดมาเพราะผมตั้งใจให้มันเกิด ผมแค่เรียกร้องอยากให้มันเกิดโดยใครก็ได้ แต่ไม่มีใครทำ ผมเลยเข้ามาทำเอง ทำไป สู้ไป คิดไป ตลอดเวลา”

ลงทุนไปกับมันแค่ไหน เอาอะไรไปแลกมาบ้าง–ผมสงสัย

“ก่อนทำ ไรท์เตอร์ ผมมีเงินสดในบัญชี 100,000 บาท ตอนปิด ไรท์เตอร์ ผมไม่มีเงิน ถ้าพูดให้ง่ายๆ สบายๆ คือผมเสียเงินไปแสนนึงสำหรับการทำ ไรท์เตอร์ 4 ปี แต่เงินในการทำ ไรท์เตอร์ เยอะนะ มีเงินที่พ่อให้ผมมาแสนนึง เป็นเงินที่อากู๋ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) ให้มาล้านนึง แต่ส่วนของผม มันก็หมดไปแค่แสนนึง ซึ่งผมหาใหม่ได้”

“เสียดายเงินแสนไหม”

“โคตรคุ้มเลยคุณ จะมีอะไรคุ้มกว่านี้อีก ผมโคตรจะพอใจ ผมรู้สึกว่าสี่ห้าปีที่ผ่านมาในการทำ ไรท์เตอร์ เป็นสี่ห้าปีที่มีความหมายกับชีวิตผมมาก มีความฝันหลายอย่างที่ผมยังทำไม่ได้ แต่มันช่วยไม่ได้ที่ผมทำไม่หมด ผมมีฝีมือแค่นี้ แต่ผมก็มีความสุขที่ได้ทำ ได้แสดงให้สังคมเห็นว่า มันเกิดมาอย่างมีคุณค่า

“ผมพูดตลอดว่าหนังสือเกิดมาเพื่อจะต้องตาย การตายเป็นเรื่องธรรมดาและวันหนึ่งหนังสือก็จะพบกับเรื่องธรรมดา เหมือนชีวิต วันหนึ่งต้องตาย สิ่งสำคัญคือทำยังไงให้ชีวิตมีคุณค่า”

ผมนึกถึงคำถามในวันนั้นที่เขาว่า–ถ้าผมทำอะไรไม่ได้เลย จะมีชีวิตอยู่อีกนานไปทำไม

มันทำให้ผมพอสรุปได้ว่า ชีวิตของชายผู้นี้ไม่ได้ให้ค่ากับคำถามที่ว่า ‘อยู่นานแค่ไหน’ มากนัก

เขาสนใจว่า ‘อยู่อย่างไร’ มากกว่า

“วันที่ ไรท์เตอร์ ตายจากไป คนในสังคมจำนวนไม่น้อยอาลัยและคิดถึง โหยหามัน เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่ามันมีความหมาย

“ชีวิตที่เกิดมามีความหมายเป็นชีวิตที่น่าดีใจนะ”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นวลตา วงศ์เจริญ

ช่างภาพสาวสุดเท่ที่หลงรักการถ่ายภาพพอร์เทรต มีความสามารถในการดึงตัวตนของแบบออกมาได้ชัดเจน และชื่นชอบการทำให้ภาพที่ถ่ายดูมีชีวิต นอกจากถ่ายภาพ นวลตายังชื่นชอบการเดินทางอีกด้วย