วิชาแอปเปิล : เมื่ออาจารย์ญี่ปุ่นสอนวิชาออกแบบทั้งเทอมด้วยแอปเปิลหนึ่งลูก

Highlights

  • 'วิชาแอปเปิล' คือวิชาออกแบบสุดแหวกแนวของนักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัย Osaka University of Arts ที่สอนโดย Ken Miki นักออกแบบมือรางวัลชาวญี่ปุ่น
  • ทุกคาบ เคนจะมอบแอปเปิลให้นักศึกษาคนละ 1 ลูก และสอนเรื่องการออกแบบเบื้องต้น ตั้งแต่ทฤษฎีสี การใช้จินตนาการ ไปจนถึงการออกแบบอินโฟกราฟิก
  • ความดีงามของวิชาแอปเปิลคือนอกจากมันจะสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนดีไซน์แล้ว มันยังเป็นแรงบันดาลใจให้ครูทั่วโลกดีไซน์การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยสิ่งของอะไรก็ได้รอบตัว

ห้องเรียนวิชาออกแบบที่เรารู้จักเป็นแบบไหน มีโต๊ะเขียนแบบ, เครื่องเขียนนานาชนิด, กองโมเดลและเศษกระดาษ, ผนังเต็มไปด้วยภาพสเกตช์ดีไซน์ของนักศึกษา, หลักการออกแบบมากมายทดไว้บนกระดาน ฯลฯ

ห้องเรียนวิชาออกแบบของนักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัย Osaka University of Arts อาจคล้ายกับที่เรารู้จัก จะต่างก็ตรงที่ตลอดหนึ่งเทอมของการเรียน จะมี ‘แอปเปิ้ล’ หนึ่งลูกวางไว้บนโต๊ะของนักศึกษาทุกคนเสมอ 

เปล่า, มหาวิทยาลัยไม่ได้บริการอาหารว่างเป็นแอปเปิลให้นักศึกษาแต่อย่างใด ทว่าตลอด 13 สัปดาห์ของวิชานี้ เด็กๆ ในคลาสจะได้เรียนพื้นฐานการออกแบบผ่านแอปเปิลลูกเดียว

วิชาแอปเปิ้ล

lars-mueller-publishers.com

หนังสือ APPLE: Learning to Design, Designing to Learn เขียนโดย Ken Miki นักออกแบบมือรางวัลชาวญี่ปุ่น ที่มีสตูดิโอของตัวเองชื่อ Ken Miki & Associates เขาคืออาจารย์เจ้าของ ‘วิชาแอปเปิล’ ที่เรากำลังพูดถึง หนังสือเล่มนี้บันทึกการเรียนการสอนสุดแหวกและแสนทดลองวิชานี้เอาไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ

คนที่ผ่านวัยมหาวิทยาลัยมาแล้วคงรู้ดีว่า วิชาเรียนในช่วงปีหนึ่งเป็นเหมือนประตูบานแรกที่ชี้เป็นชี้ตาย ถ้า ‘เปิด’ ชีวิตมหาวิทยาลัยได้ดีมันอาจเปลี่ยนชีวิตนักศึกษาตาใสให้หลงใหลในสิ่งที่เรียนไปตลอด 4 ปี แต่ถ้าเปิดไม่ดี ก็อาจทำให้เด็กๆ เข็ดขยาดวิชานั้นไปตลอดชีวิตได้เช่นกัน

สำหรับวิชาพื้นฐานการออกแบบที่อาจารย์เคนรับผิดชอบ เขามองว่างานออกแบบไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อยู่ในชีวิตของทุกคนในทุกวัน ตั้งแต่เตียงที่เราตื่น เสื้อผ้าที่เราใส่ มือถือที่เราหยิบ รถไฟฟ้าที่เรานั่ง หนังที่เราดู การ์ตูนที่เราอ่าน ฯลฯ ดังนั้นแทนที่จะรีบให้นักศึกษาที่เพิ่งก้าวขาเข้าสู่คณะออกแบบกระโจนเข้าใส่วิชาดรอว์อิ้งหรือนั่งฟังเลกเชอร์ทฤษฎีการออกแบบยากๆ ตั้งแต่ปีหนึ่ง ทำไมไม่สอนให้พวกเขาได้เรียนรู้ ‘หัวใจ’ ของการออกแบบจากเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวันก่อน

วิชาแอปเปิ้ล

‘แอปเปิล’ จึงถูกอาจารย์เคนเลือกมาเป็นสื่อการสอน ไม่ใช่แค่คลาสเดียว แต่ตลอดทั้งเทอม เหตุผลของมันไม่ใช่แค่เพราะเขากินแอปเปิลเป็นอาหารเช้าทุกวัน แต่เพราะแอปเปิลลูกเดียวสามารถเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้ได้ทั้งเรื่องของการมองเห็น เสียง กลิ่น สัมผัส และรสชาติ เช่นเดียวกับงานออกแบบที่ทำงานกับสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์

แอปเปิลยังเป็นสัญลักษณ์ของความรู้และนวัตกรรมมากมายในเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ ตั้งแต่แอปเปิลของอดัมและอีฟ แอปเปิลที่หล่นลงกลางกระหม่อมเซอร์ไอแซก นิวตัน จนถึงแอปเปิลบนเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล แม้ว่าเราทุกคนคิดว่าตัวเองรู้จักแอปเปิลเป็นอย่างดี แต่ในแอปเปิลลูกเล็กๆ ตรงหน้า ยังมีจักรวาลกว้างใหญ่ที่เรายังไม่เคยเข้าไปค้นหา และสุดท้ายแอปเปิลก็เหมือนการเรียนรู้คือต้องใช้เวลากว่าจะโต

 

เรียนรู้การดีไซน์

ตลอด 13 สัปดาห์ เคน มิกิ ออกแบบคอร์สเรียนโดยยึดหลัก ‘อร่อยและย่อยง่าย’ ด้วยการบูรณาการพื้นฐานการออกแบบ เข้ากับจักรวาลในลูกแอปเปิลผ่าน 6 กระบวนการหลัก–ทำความเข้าใจ (understanding), สังเกต (observation), ใช้จินตนาการ (imagination), คิดวิเคราะห์ (analysis), ปรับปรุงแก้ไข (revision) และคิดให้เป็นภาพ (visualization)

ในหนังสือของเขา เคนบันทึกการเรียนการสอนตั้งแต่คาบแรก เริ่มจากการตั้งคำถามว่าเราจะวัดพื้นที่ผิวของแอปเปิลทั้งลูกได้ยังไงโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ? ก่อนนำคำตอบของนักศึกษาคนหนึ่งมาให้ทุกคนในชั้นเรียนทดลอง นั่นคือการเอาเชือกไหมพรมหลากสีพันรอบลูกแอปเปิลให้ปิดพื้นผิวเดิมให้มากที่สุด ผลที่ได้คือแอปเปิลในชุดไหมพรมสุดน่ารักเรียกรอยยิ้มทั้งชั้นเรียน

แต่ชื่นชมความน่ารักกันได้ไม่นาน ทุกคนกลับต้องหุบยิ้มเพราะอาจารย์เคนสั่งให้แกะเชือกทั้งหมดออกพร้อมบอกว่ากระบวนการ ‘ทำ-รื้อ’ นี่แหละคือสิ่งที่ทุกคนควรได้เรียนรู้ในคาบแรก เพราะเหล่านักออกแบบจะต้องเจอมันไปตลอดตั้งแต่ในการเรียนไปจนถึงการทำงานออกแบบ เคนยังสอนต่อว่าการรื้อนั้นใช่จะเป็นกระบวนการที่เสียเปล่าเพราะเราจะนำไหมพรมแต่ละเส้นออกมาคลี่เป็นเส้นเพื่อเรียนรู้เรื่องระยะทางและพื้นที่กันต่อ 

นี่คือบทเรียนเรื่องพื้นผิว พื้นที่ และปริมาตร

วิชาแอปเปิ้ล

วิชาแอปเปิ้ล

lars-mueller-publishers.com

อีกคาบอาจารย์เคนให้นักศึกษาลองปอกเปลือกแอปเปิลและตัดให้เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใกล้เคียงกันที่สุด จากนั้นลองสมมติว่าแผ่นเปลือกแอปเปิลคือแผ่นเปลือกโลก นำทั้งหมดมาเรียงกันเป็นแผนที่โลก ซึ่ง ‘แผนที่’ นี่เองเป็นบทเรียนแทนการสอนออกแบบ Information Graphic เบื้องต้น ด้วยวิธีนี้ เราจะเห็นว่าอินโฟกราฟิกนั้นย่อยและคลี่คลายข้อมูลที่ซับซ้อนของภูมิประเทศ 3 มิติ (หรือในที่นี้คือลูกแอปเปิล) ออกมาให้กลายเป็น 2 มิติ ทุกวันนี้เรารับรู้ข้อมูลจากแผนที่ขนาดเล็กอย่างแผนที่รถไฟฟ้า ไปจนถึงแผนที่ที่บอกเราว่าโลกกำลังร้อนขึ้นขนาดไหน

lars-mueller-publishers.com

ในบทเรียนเรื่องสี เราอาจคุ้นเคยกับการเรียนทฤษฎีสีผ่านวงล้อสี แต่เคน มิกิ เข้าห้องมาพร้อมคำถามว่า “แอปเปิลในมือเราสีอะไรกันแน่?” นักศึกษาพากันสังเกต นอกจากจะเห็นว่าสีเปลือกแอปเปิลในมือแต่ละคนต่างกัน พวกเขายังพบว่าสีแดงหรือเขียวของแอปเปิลนั้นมีเฉดที่หลากหลายผสมอยู่ เคนจึงให้นักศึกษาลองผสมสีแอปเปิลของตัวเองขึ้นมาให้เหมือนที่สุดด้วยการใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มเป็นจุดบนกระดาษเพื่อบังคับสายตาให้สังเกตสีอย่างละเอียดยิ่งขึ้น 

ที่น่าทึ่งคือเขาบอกว่ากระบวนการ ‘จุดสี’ ที่ดูธรรมดาๆ อย่างที่ทุกคนกำลังทำคือพื้นฐานของเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสี่สี CMYK ในปัจจุบัน จบด้วยการร่วมกันทำชาร์ตสีแอปเปิลที่ดูแตกต่างกันได้ถึง 8,000 เฉด 

ken-miki.net

จากกระบวนการทำความเข้าใจ (understanding) และสังเกต (observation) สู่กระบวนการ ใช้จินตนาการ (imagination) กันบ้าง ในบทเรียนเรื่องรูปร่างและรูปทรง เคนมาพร้อมคำถามที่ว่า “แอปเปิลจะพาจินตนาการเราไปได้ไกลถึงจุดไหน?” พร้อมให้นักศึกษาลองปอกเปลือกแอปเปิลให้เป็นเส้นไม่ขาดจากกัน จากนั้นจึงนำเกลียวขยุกขยุยมาเป็นจุดตั้งต้นของการจินตนาการ กลายเป็นภาพวาด doodle 

เมื่อจบคาบ เขานำภาพวาดของทุกคนมากางรวมกันและให้แต่ละคนโหวตชิ้นที่ชอบเพื่อให้นักศึกษาเจ้าของผลงานได้ฝึกอธิบายจินตนาการของตัวเอง

นอกจากการนำแอปเปิลมาสอนอย่างสร้างสรรค์ เพื่อไม่ให้เด็กๆ เครียดและจมอยู่กับการออกแบบจนหลงลืมความอร่อยของแอปเปิล ช่วงกลางเทอมเขาจึงคั่นด้วยปาร์ตี้แบบญี่ปุ๊นญี่ปุ่นโดยให้ทุกคนคอสเพลย์เป็นแอปเปิลและสร้างสรรค์อาหารที่มีแอปเปิลเป็นส่วนผสมนำมากินร่วมกัน

กระบวนการเรียนวิชาแอปเปิลที่เราหยิบมาเล่าเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ในคาบหลังๆ เคนยังพานักศึกษาท่องโลกแอปเปิลไปจนถึงการทำ mind mapping ความคิดจากแอปเปิลเพื่อเรียนรู้กระบวนการสังเคราะห์ไอเดีย, ใช้แอปเปิลทำการ์ตูนช่อง, ทำสมุด flip book และแอนิเมชั่นในธีมแอปเปิลเพื่อเรียนรู้การเล่าไอเดียออกมาเป็นภาพ 

lars-mueller-publishers.com

และแล้วก็ถึงโปรเจกต์สุดท้ายของวิชาแอปเปิล อย่าเพิ่งคิดว่ามันคือการฝึกงานที่สวนแอปเปิลหรือออกแบบแพ็กเกจน้ำแอปเปิลแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่เคนให้นักศึกษาทำคือการรวบรวมผลงานของพวกเขาตลอด 13 สัปดาห์ไปโชว์ในนิทรรศการชื่อ APPLE+ ที่จัดขึ้น ณ หอศิลป์กลางเมืองโตเกียว Ginza Graphic Gallery (สีแดงบนพื้นแกลเลอรีคือสีของแอปเปิล 8,000 เฉดที่ได้จากการเรียนในห้องนั่นแหละ) รวมถึงบันทึกกระบวนการเรียนการสอนตลอดเทอมออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ทั้งหมดคือกระบวนการเรียนรู้และส่งต่อความรู้ที่เคน มิกิ ออกแบบไว้ตั้งแต่ต้น

osaka-geidai.ac.jp

 

ดีไซน์การเรียนรู้

ย่อหน้าแรกของ APPLE: Learning to Design, Designing to Learn เขียนว่า “สำหรับใครที่เรียนการออกแบบเป็นครั้งแรก, ใครที่อยู่ในโลกการออกแบบมาแล้วหลายต่อหลายปี, ใครที่กำลังสอนวิชาออกแบบ หรือใครก็ตามที่ไม่ได้สนใจเรื่องการออกแบบเลย”

ที่หนังสือเล่มนี้และการสอนด้วยแอปเปิลตอบโจทย์แทบทุกคนแม้กระทั่งคนที่ไม่สนใจเรื่องการออกแบบ อาจเพราะคำถามว่า “เราจะออกแบบอย่างไร?” อาจเป็นแค่ส่วนเปลือกและเนื้อของแอปเปิล แต่ส่วนที่เป็นแกนกลางและเมล็ดของแอปเปิลคือคำถามที่ว่า “เราจะออกแบบการเรียนรู้อย่างไร?” 

สำหรับคนที่เป็นผู้สอน สิ่งที่วิชาแอปเปิลสอนเราคือ ‘ทักษะการหยิบทุกอย่างในโลกมาเป็นสื่อการสอน’ เทคนิคการสอนวิชาการออกแบบผ่านแอปเปิลของเคนทำให้เรานึกถึงรูปแบบการสอนของพระอาจารย์ในนิทานเซนที่มักหยิบสิ่งของง่ายๆ ใกล้ตัวมาใช้เป็นสื่อการสอนให้พระลูกศิษย์ได้อย่างมีความหมาย ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน กิ่งไม้ ดวงจันทร์ หรือแม้แต่ลมที่กำลังพัด

สำหรับผู้เขียน ประสบการณ์ตรงจากการเรียนวิชา Pedagogy–ที่ว่าด้วยการเรียนการสอน ใน The European Graduate School ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อาจารย์ผู้สอนก็เข้ามาในคาบแรกพร้อมกับ masking tape (ที่เราเรียกกันว่าเทปหนังไก่หรือเทปนิตโต้) ให้นักศึกษามาดึงไปคนละเส้นยาวๆ พร้อมโจทย์ว่า “เทปเส้นนี้สามารถเป็นอะไรได้บ้าง?” โดยเน้นให้สร้างความหมายในเชิงจินตนาการแบบไม่ต้องยึดติดกับฟังก์ชั่นเดิมของมัน บางคนให้ความหมายว่าเส้นเทปคือเวลา ปลายด้านหนึ่งคืออดีต ส่วนอีกด้านคืออนาคต ในขณะที่บางคนใช้เส้นเทปมาทำเป็นกรอบล้อมตัวเองเพื่อทำความเข้าใจเรื่องขอบเขต

อาจารย์ประจำคาบสรุปให้ฟังว่า ทักษะการทำทุกอย่างในโลกให้กลายเป็นสื่อการสอนไม่ได้เป็นเพียงแค่ลีลาการสอนที่ทำให้นักเรียนสนุกและสนใจ แต่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่คนเป็นผู้สอนทุกคนต้องมี เพราะเมื่อถึงคราวที่ครูต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่ทรัพยากรมีจำกัด ทุกอย่างต้องสามารถหยิบมาสร้างการเรียนรู้ได้ เช่น ถ้าครูต้องไปทำงานกับเด็กๆ ในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีแค่เตียงและหมอน ของทั้งสองอย่างต้องกลายเป็นสื่อการสอนของเราได้ทันที

สำหรับคนที่เป็นผู้เรียน ในบทส่งท้ายของหนังสือเคนบอกว่า หากเราลองเขียนอักษรคันจิคำว่า ‘การเรียน’ (gakumon) แบบย้อนกลับจะได้เป็นวลีว่า ‘เรียนรู้ที่จะตั้งคำถาม’ ความหลงใหลในการตั้งคำถาม กระหายที่จะได้มาซึ่งความรู้ และเอร็ดอร่อยไปกับการได้รู้คือหัวใจของการเรียน วิชาแอปเปิลของเขาจึงเริ่มด้วยคำถามเสมอ

ผมคิดว่าเราทุกคนสามารถเรียนหลักสูตรของเคน มิกิ ได้ทันทีและเรียนได้ทุกวัน เพียงหยิบของที่ใกล้ตัวที่เรารู้สึกหลงใหลมันที่สุดในตอนนี้และถามว่า “เราสามารถเรียนรู้อะไรจากมันได้บ้าง?”

ส่วนผมนั้นได้สื่อการสอนของตัวเองแล้ว วิชาต่อไปที่ผมกำลังจะลงเรียน ชื่อว่า ‘วิชาข้าวเหนียวมะม่วง’

 

อ้างอิง 

หนังสือ APPLE: Learning to Design, Designing to Learn เขียนโดย Ken Miki

AUTHOR