a day experience ชวนเดินเท้าสำรวจชุมชนเก่าย่านฝั่งธนในทริปเดินดีที่กุฎีจีน

Highlights

  • ทริป ‘เดินดีที่กุฎีจีน’ คือ ทริปที่ a day ทำร่วมกับศูนย์ออกแบบผังเมืองและพัฒนาเมือง (UddC) พาผู้อ่านไปสัมผัสชุมชนอายุกว่าสองร้อยปี และสถานที่สำคัญต่างๆ ในย่านธนบุรี โดยมีวิทยากร อ.ธีรนันต์ ช่วงพิชิต ประธานมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน และผู้ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี ร่วมกับคุณด้วง–บุญยนิธย์ สิมะเสถียร ทายาทซึ่งเป็นผู้ดูแลศาลเจ้าเกียงอันเกง
  • ศาลเจ้าเกียงอันเกง หนึ่งในสถานที่ของทริปนี้ นอกจากจะเป็นศาลเจ้าของชาวจีนฮกเกี้ยนแล้ว ที่นี้ยังเป็นเบื้องหลังฉากนิยาย พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ โดย แหม่ม–วีรพร นิติประภา

มนุษย์อาจมีชีวิตเฉกเช่นเดียวกับโบราณสถาน 

เมื่อเปรียบเทียบกันโดยผิวเผินแล้ว มนุษย์มีชีวิตอันสั้น แต่โบราณสถานยืนยาวอยู่ได้นับร้อยปี ชีวิตของมนุษย์และโบราณสถานล้วนมีการก่อเกิด เติบใหญ่ แก่ชรา และเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

วันเสาร์ที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา a day และ UddC อาสาพาผู้ร่วมทริป ‘a day experience : เดินดีที่กุฎีจีน’ ทั้ง 29 คน ไปย้อนรอยเส้นทางประวัติศาสตร์ ดูการก่อเกิด เติบใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงของโบราณสถานในย่านฝั่งธน เดินลัดเลาะเข้าซอยนั้นออกซอยนี้บนเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี

ในย่านกุฎีจีนนั้น ไม่ว่าจะเป็นวัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิดอิสลาม หรือแม้กระทั่งศาลเจ้าของชาวจีน ล้วนมีเรื่องราวซุกซ่อนอยู่ และอยู่บนพื้นที่เดียวกันแบบ ‘พหุวัฒนธรรม’ โดยแท้ โบราณสถานมีความหลังและในความหลังก็มีชีวิต เราขออาสาสรุปทริปเพื่อทบทวนความทรงจำ เลาะเล็มถึงที่มาและความหลังของแต่ละสถานที่ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรีที่ยังคงคุณค่าและความงามแม้จะผ่านเงื้อมเงาของกาลเวลามาเป็นร้อยๆ ปี

กุฎีจีนเป็นชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีสถานที่สำคัญหลายแห่งซึ่งเป็นเหมือนแลนด์มาร์กในย่านธนบุรี โดยสถานที่ที่เรานัดพบกับผู้ร่วมทริปเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางในครั้งนี้คือ ‘อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชนนี’ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม ‘อุทยานสมเด็จย่า’ ทางเข้าด้านหน้าอุทยานมีต้นไม้ใหญ่โน้มกิ่งใบราวกับอ้าแขนต้อนรับผู้มาเยือนและเชื้อเชิญให้เข้ามาแวะพักในสวนสงบแห่งนี้

คณะผู้ร่วมทริปค่อยๆ เดินเข้าไปเยี่ยมชมอุทยานภายในโดยมีวิทยากร อาจารย์ธีรนันต์ ช่วงพิชิต ประธานมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน และผู้ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี คอยให้ความรู้เชิงลึกในย่านกุฎีจีนแก่พวกเราตลอดทริป และยังมีวิทยากรคนพิเศษอย่าง แหม่ม–วีรพร นิติประภา นักเขียนนวนิยายรางวัลซีไรต์ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ซึ่งบางช่วงบางฉากของนิยายเล่มนี้มีการเล่าถึงสถานที่ที่เป็นจุดหมายในทริปที่เรากำลังจะไปเยือนในครั้งนี้ด้วย

เดิมทีพื้นที่ตรงอุทยานสมเด็จย่าเคยเป็นที่ดินเก่าแก่ของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รันตราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) อธิบดีกรมพระคลังสินค้าสมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังเปลี่ยนมือมาอยู่ในความครอบครองของตระกูลนานาซึ่งเป็นตระกูลแขกมุสลิม และได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้วยเหตุที่พระองค์มีพระราชดำริจะทรงสร้างเป็นสวนสาธารณะและอุทิศให้เป็นอุทยานแด่พระมารดา ด้วยทรงเห็นว่าที่บริเวณนี้พระมารดาเคยประทับอยู่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ปัจจุบันอุทยานนี้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา

ภายในอุทยานมีอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีการจัดแสดงซากเรือโบราณ ด้านนอกมีซุ้มประตูแขก แผ่นหินแกะสลัก บ่อน้ำโบราณ และทิมบริวารซึ่งเป็นไฮไลต์ของอุทยานแห่งนี้ 

ทิมบริวารนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน โดยสร้างเป็นตึกแถวก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องเกล็ด ผนังทึบแต่มีช่องแสงด้านบน บริเวณผนังมีต้นเฟิร์นโบราณหลากหลายพันธุ์อายุกว่าร้อยปี ทั้งเฟิร์นขนนก เฟิร์นกนกนารี เฟิร์นผักกูด เฟิร์นข้าหลวง ฯลฯ เขียวขจีสวยงามน่าทึ่ง แลดูคล้ายพรมสีเขียวผืนใหญ่ปูลาดยาวไปจนจรดยังผนังอีกด้านหนึ่ง

จากนั้นเราเดินผ่านลานต้นมะกล่ำด้านหลังอุทยานเพื่อเดินทะลุไปยังศาลเจ้ากวนอู บริเวณนี้เป็นย่านชุมชนชาวจีนที่นั่งเรือกำปั่นมาค้าขายและตั้งรกรากตั้งแต่สมัยธนบุรี คณะเรามาหยุดแวะที่ด้านหน้าเพื่อชื่นชมความสวยงามอลังการของศาลเจ้ากวนอูที่ซ่อนตัวอย่างสมถะในซอยเล็กๆ ภายในศาลเจ้ามีเทพกวนอูเป็นองค์เทพประธาน ซึ่งชาวจีนเชื่อว่ากวนอูเป็นเทพผู้ผดุงความซื่อสัตย์และเป็นที่ยึดเหนี่ยวของชาวจีนโพ้นทะเล ด้านข้างองค์มีสระเสือและสระมังกรขนาบข้างซ้ายขวาตามคติความเชื่อของการตั้งศาลเจ้าตามขนบจีน ตัวอาคารหลักเป็นการนำไม้มาประกอบเข้าลิ่ม หรือที่เรียกว่า ‘เรือนแบบเครื่องสับ’ สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาจีนดั้งเดิมในการสร้างที่อยู่อาศัย ตัวอาคารหลักของศาลเจ้าที่นี่จึงสามารถถอดประกอบได้ง่ายดายเมื่อต้องการเคลื่อนย้ายหรือซ่อมแซม ผู้ร่วมทริปของเราไม่พลาดเข้าไปสำรวจภายในศาลเจ้า ไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล

ด้านข้างศาลเจ้ามีเก๋งจีนประดับกระเบื้องเคลือบสีสันจัดจ้าน และตกแต่งด้วยรูปปั้นมังกรด้านบนตามสไตล์จีนแท้ๆ

ถัดกันไปไม่กี่สิบก้าวก็จะพบ ‘โรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ’ ตัวอาคารสร้างตามสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งถอดแบบมาจากศิลปะจีนเป็นส่วนใหญ่ หากเงยหน้ามองจากด้านล่างของโรงน้ำปลาแห่งนี้ขึ้นไปจะเห็นหลังคาเป็นชั้นลดหลั่นลงมา คล้ายกับเสือเผ่นลงมาจากภูเขา จึงได้ชื่อว่า ‘หลังคาเสือเผ่น’ ด้านข้างมีหอรีและหอขวางขนาบสองข้างตัวอาคารหลัก อาจารย์ธีรนันต์เล่าประวัติโรงน้ำปลาโบราณแห่งนี้ให้ชาวทริปของเราฟังว่า สมัยก่อนคนจีนเข้ามาค้าขายน้ำปลาจนร่ำรวย เพราะส่วนประกอบหลักของน้ำปลาคือเกลือ และเกลือเป็นวัตถุดิบที่มีค่ามากในสมัยนั้น เพราะชาวบ้านต้องใช้ปรุงอาหารและถนอมอาหาร จึงทำให้การค้าของชาวจีนในย่านนี้เติบโตและเฟื่องฟูสุดขีด อาจารย์ธีรนันต์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจรายรอบชุนนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเต้าเจี้ยวหรือโรงย้อมผ้า ล้วนแต่เป็นธุรกิจที่ชาวจีนเป็นเจ้าของ และยังตกทอดเป็นมรดกทางธุรกิจให้แก่ลูกหลานสืบมาจนถึงปัจจุบันด้วย

จุดหมายต่อไปที่เราเดินลัดเลาะเข้าซอยเพื่อไปเยือนก็คือ ‘มัสยิดกูวติลอิสลาม’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘สุเหร่าตึกแดง’ เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นอาคารคลังสินค้าของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (ทัต บุนนาค) มาก่อน ภายหลังท่านได้ประทานที่ดินให้สร้างสุเหร่าขึ้น โดยเกิดจากความร่วมมือของชาวมุสลิมสองกลุ่มคือ กลุ่มมุสลิมไทรบุรีจากปัตตานีและกลุ่มพ่อค้ามุสลิมจากเมืองสุรัตในอินเดีย จึงไม่แปลกใจที่ศิลปะในสุเหร่านี้จะมีทั้งศิลปะอินเดียและมลายูผสมรวมกัน ทั้งการวาดลวดลายบานประตูด้วยศิลปะแบบอินเดีย และการประดับตกแต่งภายในแบบมลายู ที่พอมาอยู่ด้วยกันแล้วสวยงามกลมกลืน

จากนั้นเราเดินต่อไปยัง ‘ตรอกดิลกจันทร์’ ซึ่งเป็นชุมชนย่อยของต้นตระกูลบุนนาค อาจารย์ธีรนันต์เล่าเปรียบเทียบให้เห็นว่า เมื่อก่อนย่านนี้เคยเจริญจนถึงขีดสุดจนต้องขนานนามว่าเป็น ‘The Beverly Hills’ ของชาวธนบุรี เพราะมีทั้งโรงประชุมมหรสพ โรงภาพยนตร์ และสถานีวิทยุสำคัญ

 ไอเทมที่น่าสนใจซึ่งแทบทุกบ้านในตรอกนี้นิยมนำมาติดหน้าประตูก็คือ ‘โป๊ยก่วย’ หรือยันต์แปดเหลี่ยมที่ชาวจีนเชื่อว่าสามารถสะท้อนสิ่งอัปมงคลออกไปได้ สามารถติดไว้ในทิศทางที่ตั้งบ้านเรือน ทิศทางการเดินรถและเรือเพื่อปิดทางสิ่งชั่วร้ายและเบิกทางให้สิ่งดีๆ เข้ามา 

เมื่อเดินต่อมายังด้านหน้าตรอกจะเห็นงานสตรีทอาร์ตที่ศิลปินวาดเป็นยันต์โป๊ยก่วยยักษ์ โดย ไตรภัค สุภวัฒนา หรือ Puck ศิลปินสตรีทอาร์ตที่สร้างสรรค์ผลงานนี้ เล่าถึงที่มาให้เราฟังว่า “ผมสนใจศิลปะในชุมชนอยู่แล้ว โป๊ยก่วยนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากศาลเจ้าพ่อเสือซึ่งชาวบ้านที่นี่ให้ความเคารพมาก ผมเลยตั้งชื่อผลงานนี้ว่า ‘เสือคาบดาบ’ แล้วก็วาดแมวลงไปข้างๆ ด้วย เพราะตรอกนี้มีแมวเยอะ ผมมองว่าแมวเองก็เป็นเสือตัวเล็กๆ และที่วาดโป๊ยก่วยไม่ได้หมายความว่าชุมชนเรามีสิ่งไม่ดีนะ แต่ตั้งใจจะสื่อว่าเป็นการเก็บสิ่งดีๆ ไว้ในชุมชนครับ” 

สตรีทอาร์ตชิ้นนี้ทำให้พวกเราชาวทริปเห็นถึงการนำศิลปะดั้งเดิมมาสรรค์สร้างและต่อยอดเป็นโป๊ยก่วยของคนรุ่นใหม่ ที่สอดแทรกเรื่องราวเฉพาะของชุมชนชาวตรอกจันทน์ลงไปได้อย่างมีเสน่ห์เฉพาะตัว

เราออกมาจากตรอกดิลกจันทร์เพื่อเดินต่อไปยัง ‘วัดประยุรวงศาวาส’ โดยใช้เส้นทางเดินเลียบริมน้ำใต้สะพานพุทธ-สะพานพระปกเกล้า ชาวบ้านนิยมเรียกวัดประยุรวงศาวาส ว่า ‘วัดรั้วเหล็ก’ เพราะมีรั้วเหล็กเป็นกำแพงวัดอยู่เป็นบางตอน จุดที่เราเข้าไปเยี่ยมชมภายในวัดคือบริเวณเขามอซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 รูปทรงเขาที่เป็นชั้นหินลดหลั่นทับซ้อนกันนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากการเกาะตัวเป็นชั้นๆ ของน้ำตาเทียนที่สูงจนตั้งเป็นทรง ผู้ร่วมทริปได้ร่วมกันให้อาหารเต่า แวะพักตามอัธยาศัย และเดินเยี่ยมชมโดยรอบเขามอ

ภายในวัดมีการจัดงานสมโภชครบรอบ 191 ปี ที่บริเวณพระบรมธาตุเจดีย์สีขาวสูงตระหง่านซึ่งบริเวณโดยรอบมีช่องคูหาเรียงรายล้อมชั้นล่างของพระเจดีย์ ซึ่งเจดีย์แห่งนี้ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเจดีย์มรดกโลกอีกด้วย

จากนั้นเราเดินเลาะไปยัง ‘วัดซางตาครู้ส’ ซึ่งเป็นวัดคริสต์ของชาวโปรตุเกสที่สร้างตั้งแต่สมัยธนบุรี คณะเราเดินสำรวจอาคารโดยรอบและชื่นชมความงามของสถาปัตยกรรมภายใน บานหน้าต่างทั้งสองฝั่งตกแต่งด้วยกระจกสีที่บอกเล่าเรื่องราวของพระเจ้าที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเก่า ส่วนหน้าต่างอีกด้านหนึ่งเล่าประวัติของพระเยซูหรือพระผู้ไถ่ในภาคพันธสัญญาใหม่ แม้ภายในจะประดับประดาอย่างหรูหราตามแบบศิลปะตะวันตก ทั้งเสาที่ตกแต่งอย่างชดช้อย เพดานโค้ง โถงทรงโดม โคมระย้า ฯลฯ แต่เมื่อเข้ามานั่งลงเพื่อซึมซับบรรยากาศ กลับทำให้รู้สึกสงบอย่างน่าประหลาด

เดินถัดมาอีกเล็กน้อยก็จะเป็นซอยทางเข้าชุมชนกุฎีจีน หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องชื่อ ‘กุฎีจีน’ 

แต่เดิมชาวบ้านที่อยู่แถบฝั่งธนนั้นจะเรียกฝรั่งที่เข้ามาอยู่หลังชุมชนของชาวจีนว่า ‘ฝรั่งหลังกะดีจีน’ กะดีหรือกุฎิ เป็นคำที่เพี้ยนมาจาก กุฏิ ซึ่งหมายถึงศาลเจ้าหรือกุฏิของพระจีนที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมถึงเรียกชุมชนนี้ว่า ‘กะดีจีน/กุฎีจีน’ สืบมาตั้งแต่บัดนั้น

ชาวทริปได้หยุดแวะซื้อขนมกับชาวบ้านในละแวกนั้น และซักถามเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับขนมสูตรเฉพาะของกุฎีจีนซึ่งเป็นขนมที่หากินได้แค่ที่นี่เท่านั้น เช่น ขนมฝรั่งกุฎีจีนหรือขนมไข่ที่เป็นขนมอบซึ่งทำจากแป้งสาลี ไข่เป็ด และน้ำตาลเป็นหลัก กรอบนอกนุ่มใน เนื้อเบาร่วน, ขนมหน้านวลที่เป็นการต่อยอดโดยนำเอาขนมไข่มาเคลือบด้านหน้าด้วยน้ำตาลไอซิ่งและโรยถั่วด้านบน, ขนมกุสลังซึ่งทำมาจากแป้งสาลีปั้นเป็นแท่งแล้วนำมาบิดม้วนเป็นเกลียว โรยน้ำตาล ให้รสชาติหวานมันกรุบกรอบ นิยมกินกันในหน้าเทศกาลหรือโอกาสพิเศษอย่างวันคริสต์มาส, ขนมก๋วยตั๊สซึ่งเดิมเป็นขนมทาร์ตของโปรตุเกสที่กินกันอย่างแพร่หลายในสิงคโปร์ ปีนัง และแถบมะละกา เมื่อก๋วยตั๊สเข้ามาในไทย ชาวบ้านกุฎีจีนได้ปรับเปลี่ยนสูตรให้มีความเฉพาะตัว คือแทนที่จะนำไปอบเหมือนทาร์ตทั่วไป แต่นำไปทอดในน้ำมัน ซึ่งตัวแป้งจะจีบเป็นริ้วรอบๆ แล้วใส่ไส้สับปะรดลงไปทีหลัง

เราเดินต่อเข้าไปในซอยเพื่อเยี่ยมชม ‘พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน’ เหตุที่มีการตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่นี่ก็เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลชุมชนชาวสยาม-โปรตุเกสตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน และเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ศาสนา และรากเหง้าของชาวชุมชน โดยที่คนในชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ภายในจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยที่คนกุฎีจีนสมัยก่อนใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องโถโอชาม เครื่องมือดักสัตว์ จานชาม เครื่องสังคโลกของชาวจีน สิ่งของสำหรับประกอบพิธีกรรมของชาวคริสต์ รวมถึงโซนให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ‘กำเนิดสยามโปรตุเกส’ สำหรับผู้ที่ต้องการทราบข้อมูลแน่นๆ ของบ่อเกิดและผลพวงของความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส

จากนั้นเราเดินเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไปยัง ‘ศาลเจ้าเกียนอันเกง’ ซึ่งเป็นสถานที่ฉากหลังบางส่วนในนวนิยายรางวัลซีไรต์ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ โดย แหม่ม–วีรพร นิติประภา หากจะเรียกได้ว่าการมาเยือนศาลเจ้าแห่งนี้เป็นการตามรอยวรรณกรรมก็อาจจะไม่ผิดนัก

ศาลเจ้าเกียนอังเกงแห่งนี้มีคุณด้วง–บุณยนิธย์ สิมะเสถียร ทายาทซึ่งเป็นผู้ดูและเป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้า อธิบายชื่อ ‘เกียนอันเกง’ ให้ฟังว่า หมายถึง ‘อาคารที่สร้างความสงบสุขร่มเย็นแก่ชาวฮกเกี้ยน’ เนื่องด้วยศาลเจ้าแห่งนี้สร้างโดยชาวจีนฮกเกี้ยน โดยจะสังเกตเห็นได้จากหลังคาที่ลาดเอียงมากกว่าศาลเจ้าของชาวจีนอื่นๆ 

คุณด้วงอธิบายที่มาของการตั้งศาลเจ้าต่อ ว่ามีปรากฏเรื่องการสร้างศาสนสถานของชาวจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ พบหลักฐานจากบันทึกความทรงจำของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ใน สานส์สมเด็จ ว่าชาวจีนมาตั้งรกรากในไทยและสร้างศาลเจ้ามาตั้งแต่ต้นยุคกรุงศรีอยุธยาจนถึงตอนปลายกรุงศรี สืบมาจนสมัยธนบุรีชาวจีนฮกเกี้ยนก็ได้มาสร้างศาลเจ้าขึ้นที่นี่ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบ ‘สี่เรือนล้อมลาน’ เป็นอาคารสี่ทิศล้อมลานว่างตรงกลาง เปิดปล่องหลังคาโล่ง รอบนอกมีงานไม้แกะสลักที่สร้างขึ้นอย่างประณีต หากพิจารณาดูก็จะเห็นความงามและความอ่อนช้อยของฝีมือช่างโบราณ นอกจากงานไม้แกะสลักแล้วยังมีงานปูนปั้นซึ่งลงสีน้ำเงินด้วยเทคนิคงานช่างแบบดั้งเดิม บานประตูหรือทวารบาลมีภาพวาดเขียนสีขนาดสูงใหญ่กว่าศาลเจ้าที่สร้างในยุคเดียวกัน  ทั้งยังเป็นลายเส้นที่ละเอียดยิบชนิดที่ว่าสามารถจำแนกชนิดของขนสัตว์บนเสื้อผ้าในภาพนั้นได้ ด้านในมีองค์ประธานพระแม่โพธิสัตว์กวนอิมปางสมาธิ และรูปหล่อสิบแปดพระอรหันต์ทั้งวางเรียงรายอยู่

ภายในมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราว สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลังหน ซึ่งภาพเขียนแบ่งตอนออกเป็นช่องๆ ขนาบซ้ายขวา คุณด้วงกล่าวเสริมแกมกังวลว่าเนื่องจากความชื้นที่สะสมมาเป็นร้อยๆ ปี ทำให้ภาพจิตรกรรมแตกล่อนเสียหาย ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการอนุรักษ์และบูรณะซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังให้คงสภาพเดิมไว้มากที่สุด 

สุดท้ายก่อนจะจบทริป เราร่วมกันรับประทานอาหารค่ำซึ่งเป็นอาหารตำรับชุมชนกุฎีจีนแท้ๆ ณ พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน เมนูหลักมีขนมจีนแกงคั่วไก่ซึ่งใส่เครื่องในและไก่สับ กินคู่กับพริกน้ำส้ม ทำให้รสชาติกลมกล่อมและเผ็ดกำลังดี อีกเมนูหนึ่งที่ทุกคนลงความเห็นตรงกันว่าเด็ดสุดๆ ก็คือ ยำใหญ่สูตรกุฎีจีนซึ่งใส่เครื่องหลากหลาย ทั้งหมู กุ้งสด เต้าหู้ เห็ดหูหนู หอมใหญ่ แตงกวา และผักสารพัดชนิด ราดด้วยน้ำยำรสเปรี้ยวหวาน ด้วยความหลากหลายของวัตถุดิบในจานนี้ทำให้รสชาติออกมาอร่อยนัวอย่างถึงที่สุด นอกจากนี้ก็มีของหวานตบท้ายอย่างบัวลอยญวนซึ่งสอดไส้ด้วยถั่วบดรสชาติหอมนัว โรยงา และราดด้วยน้ำกะทิ ปิดท้ายด้วยน้ำตะไคร้ใบเตยหอมชื่นใจก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ


นอกเหนือคุณค่าความงามของอดีตอันประเมินค่าไม่ได้ สิ่งที่ผู้ร่วมทริปน่าจะได้รับกลับไปและรู้สึกร่วมกันคือ ชีวิตที่ยังโลดเต้นอยู่ในนั้น แม้เส้นทางประวัติศาสตร์ย่านกุฎีจีนฝั่งธนบุรีที่เราได้ไปเยือนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา แต่ทุกสถานที่ล้วนมีเรื่องราวในตัวเอง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นย่านธนบุรีได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าไม่ว่าจะวัดพุทธ โบสถ์คริสต์ มัสยิดอิสลาม ศาลเจ้า หรือศาสนสถานของศาสนาไหน ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขบนพื้นฐานการเคารพและอาศัยเกื้อกูลกัน แม้แต่ในลวดลายฉลุของช่องลม บนบานประตูหรือบานหน้าต่าง หากเพ่งพินิจให้ละเอียดก็จะเห็นถึงความอ่อนช้อยแห่งฝีมือช่างและเห็นวิถีชีวิตที่ตกทอดมาเป็นมรดกทางภูมิปัญญาให้คนรุ่นได้เรียนรู้และสืบทอดต่อไป

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด

Video Creator

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]